คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การนอน : มิตรแท้ที่มนุษย์กำลังละเลย

“อยากนอน นอนไม่พอ นอนไม่หลับ” คำบ่นที่สะท้อนว่าสุขภาพร่างกายของเรากำลังประท้วงว่าไม่ไหวแล้ว ต้องการนอนพักผ่อน ฟังดูแล้วอาจจะเป็นคำบ่นปกติทั่วไป แต่การนอนที่ไม่มีคุณภาพ ก็เปรียบเสมือนหนังยางเส้นหนึ่งที่ถูกดึงยืดยาวไปจนสุดก่อนที่จะขาดผึง ไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีก

.

‘การนอนไม่หลับ’ เป็นหัวข้อที่ถูกค้นหาเพิ่มมากขึ้นบนเว็บไซต์ Google จากผลสำรวจ Google Trends ในช่วงปี พ.ศ. 2564 จนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 พบว่าผู้คนทั่วโลกต่างค้นหาปัญหาการนอนไม่หลับ ค่าเฉลี่ยสูงถึง 74 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในประเทศไทย ปัญหานอนไม่หลับเป็นนหัวข้อที่มีค่าเฉลี่ยการค้นหาสูงถึง 67 เปอร์เซ็นต์ โดยกรุงเทพ ฯ เป็นจังหวัดที่มีการค้นปัญหาดังกล่าวมากที่สุดในไทย

.

คำถามก็คือ ทำไม ‘การนอนไม่หลับ’ ถึงได้กลายมาเป็น ‘ปัญหา’ ที่ผู้คนมากมายจากทั่วโลกพยายามค้นหาคำตอบ ?

.

‘หนี้การนอน’ สะสมจนทรมานตัวเอง

.

จากผลสำรวจบน Google Trends เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนบนโลกต่างต้องการความช่วยเหลือ จากปัญหาการนอนที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต และสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ ก็คือสิ่งที่เรียกว่า ‘หนี้การนอน’

.

‘หนี้การนอน (Sleep Debt)’ คืออะไร ? อธิบายง่าย ๆ ก็คือ การที่เรานอนไม่พอ นอนไม่เต็มอิ่ม จนร่างกายเริ่มสะสมความเหนื่อยล้า รอคอยการชดเชยการนอนที่หายไป เหมือนกับการที่เราติดหนี้ธนาคารและต้องมีการชำระหนี้ไปเรื่อย ๆ แต่การชำระหนี้การนอนไม่ได้ทำง่ายดายเหมือนกับหนี้ธนาคาร เพราะการชำระหนี้ธนาคารนั้น เราเสียดอกเบี้ยเป็นเงิน แต่การชำระหนี้การนอน เราค่อย ๆ เสียดอกเบี้ยเป็นสุขภาพ ซึ่งเป็นตัวกำหนดชีวิตของเราว่าพรุ่งนี้จะดีหรือจะร้าย และแน่นอนว่าต่อให้นอนชดเชย หรือนอนตุนให้ครบ 7-8 ชั่วโมง เพื่อชดใช้หนี้การนอนที่ตัวเองก่อขึ้นมา ก็ไม่ช่วยให้หนี้การนอนลดลงได้ง่าย ๆ

.

“หนี้การนอนหลับสามารถทำให้ชีวิตเราสั้นลง” จากผลสำรวจโดย นายแดเนียล เอฟ. คริปเก้ จาก มหาวิทยาลัย แคลิฟอเนียร์ แซนดีเอโก ภายใต้ความร่วมมือของสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.2545 พบว่า ชาวอเมริกันใช้เวลานอนเฉลี่ยอยู่ที่ 7.5 ชั่วโมง โดยเขาได้ติดตามกลุ่มตัวอย่างเดิมเป็นระยะเวลา 6 ปี และพบว่ากลุ่มคนที่นอนเฉลี่ยเกือบ 7 ชั่วโมง มีอัตราการเสียชีวิตต่ำ ซึ่งหากใช้คนกลุ่มนี้เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการวัดอัตราการเสียชีวิต ก็จะสรุปได้ว่า คนที่นอนน้อยกว่า 7 หรือนอนมากกว่านี้ มีโอกาสที่จะเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1.3 เท่า สรุปเป็นภาษาที่ทำให้ผู้คนเข้าใจได้ง่ายก็คือ ไม่ว่าจะนอนน้อยเกินไปหรือนอนมากเกินไป ย่อมไม่ดีต่อสุขภาพร่างกายของตัวเอง เพราะอาจจะต้องเผชิญโรคร้ายจนคร่าชีวิตของเราไปในที่สุด

.

‘นอนดึก’ เพราะอยาก ‘ล้างแค้น’

.

คำพูดที่ว่า “อย่านอนดึก ห้ามนอนดึก” ของคุณหมอที่คอยเตือนสติผู้คนตลอด คงจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากในยุคปัจจุบัน เช่น คนที่ทำงานจนล่วงเลยเวลา เรียนหนักจนเกิดความเครียด หรือคนที่เดินทางออกจากบ้านก็เจอรถติดจนทำให้เสียเวลาไปเปล่า ๆ ทั้งที่เราสามารถใช้เวลาที่เสียไปมาสร้างความบันเทิงให้กับจิตใจของตัวเองได้ ปัญหาเหล่านี้อาจมีส่วนทำให้เราถึงเลือกที่จะนอนดึกเพื่อ ‘ล้างแค้น’

.

แล้วการนอนดึกเพื่อล้างแค้นคืออะไร ? หลายคนคงจะสงสัยว่าการล้างแค้นมันเกี่ยวอะไรกับการนอนดึก แล้วจะล้างแค้นไปทำไม ? ล้างแค้นอะไร ? คำตอบก็คือ ถ้าคุณเริ่มนอนดึกเพราะรู้สึกว่าอยากใช้เวลาส่วนตัว นั่นเป็นเพราะคุณอยากชดเชย หรือล้างแค้นเวลาที่เสียไปในตอนกลางวันนั่นเอง

.

‘นอนดึกเพื่อล้างแค้น’ เป็นคำเด็ดวลีฮิตจากโซเซียลมีเดียในประเทศจีน เป็นการสะท้อนถึงคนที่ไม่สามารถควบคุมเวลาตัวเองได้ในตอนกลางวัน ซึ่งเชื่อมโยงกับชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน มีเวลาเพียงเล็กน้อยสำหรับการพักผ่อนเพลิดเพลินส่วนตัวในชีวิตประจาวัน ทำให้ผู้คนเหล่านี้ยอมที่จะนอนดึก เพื่อทวงคืน แย่งชิง และล้างแค้น เอาอิสรภาพและชีวิตการพักผ่อนของตัวเองกลับคืนมา

.

ถึงแม้การนอนดึกเพื่อล้างแค้น อาจจะเป็นวิธีคลายเครียดให้กับผู้คนที่ต้องการเวลาพักผ่อนเป็นของตัวเองในยามค่ำคืน แต่การนอนดึกเพื่อล้างแค้นเป็นสิ่งที่ผิดและร้ายแรงอย่างมหันต์ เพราะการนอนดึกส่งผลทำให้เราอดนอน จนกลายเป็นการสะสมหนี้สินการนอนไปเรื่อย ๆ ทุกอย่างในร่างกายก็จะพังลง ต่อให้คุณออกกำลังกายหรือกินดีแค่ไหน การอดนอนก็คงไม่ต่างจากการการุณยฆาตตัวเองอย่างช้า ๆ จนกว่าร่างกายจะส่งสัญญาณเตือนว่าไม่ไหวแล้วกับการใช้ชีวิตต่อไปโดยที่ไม่ได้นอนอย่างเต็มอิ่ม

.

คนขยันไม่อดตาย แต่อดนอน

.

“คนขยันไม่อดตาย แต่อดนอน” ประโยคเด็ดคำคมสุดฮิตในหมู่คนวัยทำงาน ฟังดูแล้วเป็นประโยคที่ออกแนวขำขัน กับชีวิตที่ขยันทำงานจนไม่ได้นอน แต่สิ่งที่แอบแฝงอยู่ในคำคมนี้คือค่านิยมของผู้คนที่ทำงานถวายหัวจนอดนอน เป็นการสร้างวัฒนธรรมการทำงานล่วงเวลาที่ไม่มีวันจบสิ้น แม้จะรู้ว่าการทำงานจนอดนอนเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ยังเลือกที่จะปฏิบัติกันต่อไป

.

จากงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ เค. แอนเดอร์ส อีริคสัน นักจิตวิทยาชาวสวีเดน ได้ทำการวิจัยไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993 ระบุว่าปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการทำงานเต็มสมรรถภาพคือการนอนหลับ กล่าวคือคนจะทำงานได้ดีที่สุด จะต้องนอนเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง 36 นาที หากนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง การทำงานและคุณภาพของงานที่ทำก็จะลดต่ำลง เมื่อเรานอนไม่พอหรืออดนอนไปทำงาน ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานจะลดลง เราจะทำงานนานขึ้นกว่าเป้าหมายที่วางไว้ แน่นอนว่ามันจะส่งผลให้นาฬิกาชีวิตของคุณวนเวียนอยู่กับการนอนดึกแบบนี้จนเสียสุขภาพกายและสุขภาพจิต

.

ถ้าลองนึกถึงประโยค “ถึงแม้เราขยันทำงานให้บริษัท แต่ถ้าเราตายบริษัทก็คนมาแทนได้ แต่ครอบครัวหาเราคนเดิมมาแทนไม่ได้อีกแล้ว” คงจะรู้สึกว่าการบ้างานหาเงินอาจไม่ตายก็จริง แต่มันทำให้เราอดนอนและพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานทลดลง และเงินที่หามาได้จากการอดนอนทำงาน สุดท้ายก็ต้องจ่ายให้กับการรักษาสุขภาพของตัวเองที่พังเพราะอดนอนและไม่ได้พักผ่อน ดังนั้นการที่คนคนหนึ่งจะขยันทำงานไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สิ่งที่ควรจะทำคือการรักตัวเองด้วยการดูแลสุขภาพ และควรให้ตัวเองได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ แค่นี้เราก็จะสามารถทำงานหาเงินไปได้อีกนาน ดีกว่าอดนอนจนทำให้ร่างกายทรุดโทรมและดับสูญไป

.

การนอนหลับควบคุมได้ : สิ่งที่ผู้คนมักเข้าใจผิด

.

คงจะดีไม่น้อย ถ้าหัวถึงหมอนแล้วสามารถนอนหลับได้เลยโดยไม่ต้องพยายาม เพราะหลายคนเจอปัญหาที่อยากนอน แต่พอบังคับตัวเองให้นอนกลับยิ่งนอนไม่หลับ และเริ่มวิตกกังวลว่าตัวเองจะเหลือเวลานอนอีกเท่าไหร่ พอรู้ตัวอีกทีก็เช้าเสียแล้ว

.

การพยายามควบคุมให้ตัวเองนอนหลับนั้น เป็นเรื่องที่ผู้คนต่างเข้าใจผิดและเชื่อว่าพวกเขาสามารถควบคุมการนอนของตัวเองได้ หารู้ไม่ว่า ยิ่งกดดันหรือควบคุมตัวเองเท่าไหร่ ยิ่งจะทำให้ตัวเองนอนไม่หลับ หรือนอนไม่เต็มอิ่ม จนอาจทำให้เกิดหนี้สินการนอนไปเรื่อย ๆ ได้เช่นกัน

.

ผู้เขียนมีโอกาสสัมภาษณ์ คุณเจษฎา กลิ่นพูล นักจิตวิทยาการปรึกษา เจ้าของเพจ K.Therapeutis และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์บริการด้านสุขภาพจิตและการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ‘เก้าอี้นักจิต’ ในประเด็นปัญหาการนอนหลับของผู้คนในสังคม ที่ยังมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับการนอน

.

คุณเจษฎาให้ความเห็นว่า ความเข้าใจผิดของผู้คนในสังคมเกี่ยวกับการนอนไม่หลับนั้น เป็นเพราะทุกคนรู้ว่าการนอนเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่สิ่งที่มักเข้าใจผิดก็คือ คิดว่าตัวเองควบคุมการนอนของตัวเองได้ จนส่งผลทำให้รู้สึกกังวล รู้สึกกดดัน กลายเป็นทำให้ตัวเองนอนไม่หลับมากขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งผู้คนบางส่วนอาจจะคิดว่าการนอนไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของตัวเอง เพราะคิดว่าการนอนไม่ใช่สิ่งสำคัญขนาดนั้น

.

“ทุกคนรู้ว่าการนอนเป็นสิ่งสำคัญ อันนี้เป็นความเข้าใจที่ถูก แต่สิ่งที่คนมักเข้าใจผิด คือคิดว่าตัวเองควบคุมการนอนได้ การที่รู้สึกอยากจะนอน แต่นอนไม่หลับ เราไม่ควรจะบังคับตัวเองให้หลับ เพราะเป็นการส่งผลทำให้เกิดความเครียดวิตกกังวลที่ตัวเองนอนไม่หลับสักที”

.

‘นอน’ อย่างมีคุณภาพ

.

การอดนอนจะทำให้ ‘ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient : EQ)’ ของเราลดลง และอารมณ์ด้านลบเพิ่มขึ้น สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกเครียดจริง ๆ ไม่ใช่ EQ แต่เป็นความคิดของเราเองต่างหาก แต่หลังจากนอนหลับฝันดี ความคิดของเราก็เปลี่ยนไป และอารมณ์ก็เช่นกัน

.

การนอนหลับฝันดีเป็นขั้นตอนแรกในการรักตัวเอง “นอนให้เร็ว นอนให้เพียงพอ และนอนหลับให้เพียงพอ” เป็นเคล็ดลับสู่การนอนหลับฝันดีตลอดคืน ตลอดจนเป็นทางลัดในการเปลี่ยนอารมณ์และปลูกฝังลักษณะบุคลิกภาพเชิงบวก ให้เริ่มต้นชีวิตวันใหม่ได้ดีมากกว่าเดิม

.

‘การนอนที่ดีมีคุณภาพ’ เปรียบเหมือนมิตรแท้อันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ ถ้าเรานอนดีมีคุณภาพ ก็เหมือนกับได้สิ่งดี ๆ เป็นมิตรแท้ที่คอยรักษาและสนับสนุนในทุก ๆ ด้าน แต่ถ้าการนอนย่ำแย่ ก็เหมือนกับการมีงูพิษที่ก่อร่างสร้างมาจากน้ำมือตัวเอง คอยจ้องแต่จะทำร้ายร่างกายและจิตใจของเรา จะวันไหนก็ไม่รู้

.

ดังนั้นคงจะไม่ดีแน่ หากเราละเลยมิตรภาพที่ดีและอยู่ใกล้ตัวของเรา ด้วยการมองข้ามความสำคัญของ ‘การนอน’ ของตัวเองไป

.

ข้อมูลอ้างอิง

  • วอล์เกอร์,แมตธิว (2563). Why Sleep นอนเปลี่ยนชีวิต. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป. พิมพ์ครั้งที่ 1
  • ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิขิโนะ เซจิ. (2562). หลับดีมีคุณภาพ ด้วยเคล็ดลับ ฉบับสแตนฟอร์ด. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์เฮลท์. พิมพ์ครั้งที่ 2
  • Lin Songkai Source (2014). ความพยายามไม่เพียงพอแต่นอนหลับไม่เพียงพอ. จาก https://www.commonhealth.com.tw/article/68353?rec=ch-i2i-2-visitor&from_area=area06&from_id=expert-3806&from_index=1
  • Eric Suni, Staff Writer (2022). What Is “Revenge Bedtime Procrastination”?. From https://www.sleepfoundation.org/sleep-hygiene/revenge-bedtime-procrastination
  • ไม่ระบุผู้เขียน.(ม.ป.ท.). นอนมากขึ้น = ท างานได้มากขึ้น. จาก https://www.interpharma.co.th/articles/synbiotics-

.

.

เรื่อง : ญาณิศา แก้วการไร่

ภาพ : Envato

บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Recent Posts
Newsletter
Lorem ipsum dolor sit amet conse ctetur adipisicing elit, sed do eiusmod.