คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ย้ายประเทศกันเถอะ! : เมื่อคนรุ่นใหม่ไม่ไหว ไม่ทน

คุณอยู่ทีมไหน ? ยกมือหน่อย ! #ทีมอังกฤษ #ทีมออสเตรเลีย #ทีมเมกา #ทีมแคนาดา

.

นี่ไม่ใช่การเชียร์บอลโลกว่าตัวคุณเป็นแฟนพันธุ์แท้ของทีมไหน แต่เป็นการตั้งใจเลือกเพื่อลองค้นหาอนาคตในดินแดนที่แตกต่าง ในประเทศที่สามารถมอบมุมมองใหม่ ๆ วัฒนธรรมที่หลากหลาย และประสบการณ์ที่ไม่เคยพบเจอเมื่ออยู่ที่บ้าน

.

“ย้ายประเทศกันเถอะ” ประโยคบอกเล่าเชิงคำถามที่ฝากไว้ให้คนฟังได้คิด และลองหาคำตอบของคำถามสั้น ๆ นี้ กับปรากฎการณ์ทางโซเชียลที่บูมเด้ง มาแรง แซงทางโค้ง เห็นได้จากการที่เพจ Facebook : ย้ายประเทศกันเถอะ มีสมาชิกสูงเกือบ 600,000 คน ภายในสามวันที่ตั้งขึ้นมา นั่นคือเหตุผลที่แสดงให้เห็นว่าคำถามนี้มีพลังเรียกความสนใจจากกลุ่มคนในโลกโซเชียลได้มากจริง ๆ

.

‘การย้ายประเทศ’ ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แต่เป็นเหมือนการสะท้อนความทุกข์ร้อนของชนชั้นกลางซึ่งกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ได้เป็นอาการป่วยไข้แค่เพียงชาวไทย แต่ในโลกที่มีการเคลื่อนไหวทางข้อมูลอย่างรวดเร็ว ทุก ๆ สถานการณ์การเปลี่ยนแปลง สังคม วัฒนธรรม รวมไปถึงการเมือง ล้วนแล้วแต่เป็นความพึงพอใจส่วนบุลคลที่จะตัดสินด้วยตัวเองว่าอยากอยู่ที่เดิมต่อหรือลองออกไปที่อื่น วลีที่ว่า คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า ดูจะใช้ได้จริงกับสถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้ ที่คนรุ่นใหม่อยากออกไปใช้ชีวิต ไปทำงาน ไปเรียน หรือแม้แต่ไปเป็นฟันเฟืองชิ้นเล็ก ๆ ที่มีส่วนเป็นแรงงานสำคัญในการพัฒนาประเทศที่ไม่ใช่บ้านเกิดของตน และในทางกลับกัน ชนชั้นกลางในบางประเทศก็มองว่าประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งตัวเลือก ในการเปิดประสบการณ์ย้ายถิ่นฐานหรือการทำงานของพวกเขา

.

จากเหตุผลข้างต้น จะเห็นได้ชัดว่าแรงงานสำคัญของแต่ละชาติกำลังทยอยไหลออกนอกประเทศ หรือที่เรียกกันว่า ‘ภาวะสมองไหล (Brain Drain หรือ Human Capital Flight)’ คือการตัดสินใจที่จะโยกย้ายถิ่นฐานของกลุ่มบุคคล เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในชีวิต โดยมีแรงจูงใจจากประเทศปลายทางในด้านของเศรษฐกิจที่ดีกว่า ฐานเงินเดือนที่สูงขึ้น รัฐสวัสดิการที่มั่งคง และคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น ตรงกันข้ามกับประเทศต้นทางที่มีปัจจัยกระตุ้นให้ผู้คนอยากย้ายออกไป ไม่ว่าจะเป็น คุณภาพชีวิตที่ต่ำเตี้ย สภาวะกดดันทางสังคม รัฐบาลที่ไม่ใส่ใจและดูแลในส่วนของสิทธิเสรีภาพที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะได้รับ และเหตุปัจจัยอื่นอีกมากมาย

.

การมีโอกาสสักครั้งหนึ่งในชีวิต ในการเดินทางไปเรียน ไปทำงาน หรือแม้แต่การไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ ถือเป็นการเปิดมุมมองที่หลากหลายทางด้านวัฒนธรรม และให้ประสบการณ์ใหม่ๆ ในชีวิต หลายคนมองว่าการได้ไป ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ สังคม ภาษา และวัฒนธรรม นับเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและท้าทายความกล้าในตัวเรา

.

คุณเมย์ – ภัทราวริน แซ่ย่าง เจ้าของ YouTube ช่อง Mary Infinity ที่มีผู้ติดตามกว่า 40,000 คน เป็นหนึ่งในคนไทยที่ได้ย้ายประเทศ และจากนี้คือเรื่องราวของพนักงานบริษัทในกรุงเทพฯ สู่ช่องทางการทำงานในต่างแดน รวมไปถึงแรงบันดาลใจต่าง ๆ จากการไปใช้ชีวิตและทำงานในประเทศที่ขึ้นชื่อด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างประเทศออสเตรเลีย

.

จำความรู้สึกวันแรกที่ไปถึงออสเตรเลียได้ไหม เหมือนหรือต่างจากที่คิดไว้มากน้อยแค่ไหน ?

ไม่อยากเชื่อว่านี่เรามาถึงออสเตรเลียแล้วจริง ๆ เหรอ พื้นที่ใช้สอยเยอะดีนะ

จริง ๆ ตื่นเต้นมาก แต่ก็ไม่ได้มากขนาดนั้นนะ พี่รู้สึกว่าออสเตรเลียเหมือนกรุงเทพฯ เลย ตึกยิ่งเหมือน อากาศร้อนมาก ร้อนเหมือนกรุงเทพฯ เลยแหละ เรามาช่วงหน้าร้อนด้วยไง เลยรู้สึกว่าไม่ได้แตกต่างเท่าไหร่ แต่เวลาหนาวที่นี่หนาวมาก

.

เล่า Culture Shock ฉบับคนออสซี่ให้ฟังหน่อย ?

เรื่องที่ช็อกมากนะ คือคนที่นี่คือเขาจะล้างจานแบบ… ตอนแรกเขาจะบีบน้ำยาล้างจานลงที่ภาชนะใช่ไหม เสร็จแล้วคือไม่ขัด ไม่ถูนะ คือเอาผ้าเช็ดแล้วเก็บใส่ตู้ไปเลย พี่ก็งงมาก ถามเขาว่าทำแบบบนี้ได้ด้วยเหรอ ไม่กลัวสารเคมีเหรอ ทำไมไม่ล้างน้ำก่อน เขาตอบกลับมาว่าแบบนี้แหละสะอาดแล้ว คนที่นี่เขาทำกันแบบนี้ พี่นี่อึ้งไปเลย

.

ทำไมถึงมีความคิดที่ว่าอยากออกไปทำงานต่างประเทศ ?

เอาจริง ๆ นะ พี่ทำงานมา 3 ปีที่ไทย จ่ายภาษีทุกครั้ง รู้สึกว่าไม่เคยได้อะไรกลับมาเลย ไม่เห็นเลยจริง ๆ

แต่ที่ออสเตรเลียคือ เราทำงาน อย่างพี่นับเป็นชาวต่างชาติเนอะ ถ้าเราจ่าย Tax ถูกต้องตามกฎหมาย เราจะได้รับสวัสดิการที่เยอะมาก ที่นี่เขาไม่แบ่งว่าเป็นคนออสเตรเลียหรือชาวต่างชาติอะไรนะ ยกตัวอย่างเลย ช่ว่งโควิดที่ผ่านมา ถ้าเราได้รับผลกระทบเกี่ยวกับงานของเรานะ รัฐบาลจะแจกเงินเลย แจกทุกคน ไม่มีการไปกดโควตานะ อย่างพี่ที่จ่ายภาษีอย่างถูกต้อง รัฐบาลจะให้เลยอาทิตย์ละ 750 AUD ซึ่งบางทีนะ ได้เยอะกว่าที่เราทำงานอีก (หัวเราะ)

เขาไม่แยกนะ ขอแค่คุณอยู่ในออสเตรเลีย เสียภาษีที่นี่ เขาจ่ายหมด

.

อยู่ที่ออสเตรเลียทำงานอะไรบ้าง แล้วอะไรที่แตกต่างจากที่ไทย ?

ภาษีที่นี่เขาเก็บแพงนะ หาเงินได้เยอะก็จ่ายเยอะ แต่การคมนาคม การขนส่ง ที่นี่ทั่วถึงมาก ถ้ารถไฟไปไม่ถึงรถเมล์ก็ไปถึง แล้วรถเมล์ของที่นี่คือดีมาก เหมือน BTS บ้านเราเลย ดีมาก ไปไหนก็สะดวก ทุกคนจ่ายเงินเท่ากัน อย่างพี่วันหนึ่งหาได้ 300 AUD จ่ายค่าเดินทางไป 8 AUD อย่างน้อย ๆ เราเหลือเก็บนะ

ที่ไทย คนที่มีงานดี ๆ เงินเดือนสูงกว่าค่าครองชีพนิดเดียวเอง แต่ที่นี่คือ อย่างพี่ทำงานร้านอาหารไทย ค่าครองชีพสูงจริง แตเงินที่ได้มันเยอะมันพอ พอจนเหลือเก็บเลย คิดไปเลยว่า อาทิตย์หนึ่งพี่หาเงินได้ 650 AUD ค่าใช้จ่ายในหนึ่งอาทิตย์มากสุดแค่ 200 AUD ถ้าเก็บเก่งจะมีเงินเยอะมาก

ที่นี่คนล้างจานได้ชั่วโมงหนึ่ง 550 บาท อันนี้คือน้อยสุด ๆ แล้วนะ จริง ๆ ได้เยอะกว่านี้อีก จริง ๆ ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนนะ ที่นี่ที่แรกเลย (หัวเราะ) คือพี่ไปทำงานที่ร้านอาหารไทยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ประมาณปี 2020 พี่ทำงานอยู่ร้านอาหารไทยได้ 11 AUD ขณะที่ร้านต่างชาติจะได้ 19 AUD แต่ตอนนี้เรทเงินขึ้นแล้วนะ น่าจะประมาณ 17-18 AUD แต่ต่างชาติ 20 AUD ขึ้นหมดเลย

จริง ๆ ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่เราเลย ว่าเรากล้าที่จะไปเผชิญสิ่งใหม่ ๆ ไหม อย่างพี่ก็ไม่เคยคิดจริง ๆ ว่าจะได้มาทำงานร้านอาหารชาวต่างชาติ

.

อยากได้คำแนะนำสำหรับคนไทยที่คิดจะไป เพราะบางคนกลัวที่จะเริ่มทำงานกับชาวต่างชาติ แต่ถ้าทำกับคนไทยก็กลัวจะโดนกดค่าแรง ?

ถ้าใครที่ไม่รู้อะไรเลยจริง ๆ พี่แนะนำให้ไปทำงานร้านอาหารไทยเลย อย่าคิดว่าเขากดเงินเรา อย่างแรกที่อยากให้คิดเลยคือร้านไทยเขาสอนให้เรารูจักที่นี่ เขาจะสอนให้เรารู้ว่าการเสิร์ฟลูกค้าเป็นยังไง เพราะประเทศนี้คนแพ้นั่นแพ้นี่เยอะมาก อย่าคิดว่าเขากดเงิน ให้คิดว่าเราไม่มีประสบการณ์มาก่อน เรามาหาประสบการณ์ การทำงานร้านไทยถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี

.

นอกจากที่กล่าวไปแล้ว คุณเมย์ยังได้เล่าถึงการขอ PR (Permanent Resident) หรือ การขออยู่เป็นพลเมืองถาวร ซึ่งถือเป็นความฝันสูงสุดในการย้ายประเทศของใครหลายคน เพื่อที่จะได้เป็น Citizen อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับรัฐสวัสดิการที่ดีจากทางรัฐบาล ได้รับความเคารพในด้านของอิสระในการใช้ชีวิต ทั้งสิทธิ และเสรีภาพดังเช่นเป็นพลเมืองคนหนึ่งในประเทศนั้น ๆ ซึ่งการขอ PR นั้นมีหลายวิธี แล้วแต่ความความรู้ความสามารถและเป้าหมายของแต่ละคน

.

วิธีแรกที่เป็นช่องทางในช่องทางในการขอ PR ได้แก่ ‘ความรู้ความสามารถ’ การที่คนคนหนึ่งมีความรู้ความสามารถ มีทักษะต่าง ๆ หรือทักษะสำคัญเฉพาะงานในด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านความรู้ (Hard Skill) ทักษะการแก้ไขปัญหา ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม ทักษะความเข้าใจต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์ การทำงานเป็นทีม มีภาวะความเป็นผู้นำ ทักษะด้านการสื่อสาร (ภาษาอังกฤษ หรือภาษาที่สาม) ทักษะในด้านวิชาชีพเฉพาะ และทักษะทางด้านการเรียนรู้

.

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ชี้ให้เห็นว่าบุคคลที่มีคุณสมบัติเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการพัฒนางานในแต่ละประเทศ และย่อมเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานโลก ถือเป็นกลุ่มบุคคลที่แต่ละประเทศต้องการตัว เหตุผลนี้ทำให้คุณสามารถยื่นเรื่องเพื่อขออยู่เป็นพลเมืองถาวรกับประเทศนั้น ๆ ได้ โดยขึ้นอยู่กับกฎระเบียบ ข้อกำหนด และอยู่ภายใต้เงื่อนไขของแต่ละประเทศ

.

‘คู่ครอง’ ข้อนี้อาจจะดูเพ้อเจ้อหรือขายฝัน แต่ใช่ว่าจะไม่มีคนที่ประสบความสำเร็จในการขอ PR ด้วยวิธีนี้ คุณอาจจะเป็นหนึ่งในผู้โชคดี หากตัวคุณนั้นได้พบเจอกับรักแท้ในต่างแดน ได้ใช้ชีวิตด้วยกัน ได้ลองทำอะไรหลาย ๆ อย่างด้วยกัน และต้องอาศัยอยู่ภายในประเทศนั้น ๆ ภายใต้เงื่อนไขของแต่ละประเทศ

.

ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศออสเตรเลียสามารถขอวีซ่าคู่ครองได้ ซึ่งจะประกอบไปด้วย 2 ขั้นตอน คือ ขั้นแรกผู้สมัครจะยื่นวีซ่าคู่ครองแบบชั่วคราว หลังจากนั้นภายใน 2 ปี ถึงจะได้เลื่อนเป็นวีซ่าคู่ครองถาวร และท้ายที่สุดจะได้เป็นพลเมืองผู้อยู่อาศัยได้อย่างถาวรในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งในระหว่าง 2 ปีที่ถือวีซ่านี้ ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ใจว่าทั้งตัวคุณและเขาสามารถใช้ชีวิตด้วยกันได้ เป็นพลเมืองที่ดีของสังคม เป็นผู้ที่ปฏิบัติตัวและหน้าที่อย่างถูกต้องตามกฎหมายของประเทศออสเตรเลีย เพียงเท่านี้ สิทธิ์พลเมืองถาวรก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

.

‘จากพ่อแม่’ ข้อนี้เรียกได้ว่าน่าอิจฉาสุด ๆ สำหรับผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยที่มาอาศัยอยู่ในต่าง แดนและสามารถอยู่จนครบข้อกำหนดกฎหมายของทางรัฐบาลแต่ละประเทศ จนกระทั่งสามารถขอ PR ในประเทศนั้น ๆ ได้ ซึ่งในข้อนี้จะส่งผลต่อบุตรในอนาคต ที่ผู้ปกครองสามารถขอวีซ่าลูก (Child Visa) โดยมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ

.

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ขอวีซ่าลูกในประเทศออสเตรเลีย จะต้องเป็นบุตรที่อยู่ภายใต้อุปการะของพ่อแม่ที่เป็น Citizen หรือ PR ของออสเตรเลีย หรือ Citizen ของนิวซีแลนด์ที่ถือวีซ่าอาศัยอยู่และทำงานในประเทศออสเตรเลีย โดยบุตรที่ได้ PR นี้สามารถเดินทางเข้าออสเตรเลียได้โดยไม่ต้องทำเรื่องขอ Travel Exemption สามารถเรียนฟรีตามโรงเรียนของรัฐบาลต่าง ๆ และมีสิทธิ์เข้าใช้ระบบสาธารณสุขที่เรียกว่าเมดิแคร์ (Medicare) ของออสเตรเลียได้อีกด้วย

.

‘การทำธุรกิจและการลงทุน’ การที่คุณคือผู้มีเม็ดเงินจำนวนมหาศาล มีความรู้ความสามารถทางการค้าการลงทุน มี Connection ที่เหนียวแน่น มี Planner กับทางบริษัทต่างชาติที่มั่นคง สามารถพัฒนากระบวนการทำงานได้อย่างมีตรรกะและเป็นระบบ คุณสามารถใช้เหตุผลนี้ในการขอ PR เพื่ออาศัยอยู่ภายในประเทศนั้น ๆ ได้ สามารถทำงาน และลงทุนตามระบบ ตามข้อกำหนด เสียภาษีและปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศนั้น ๆ

.

ฉะนั้นการทำธุรกิจที่ใสสะอาด มีพลังในการขับเคลื่อนสังคมและพัฒนาประเทศไปในทางที่ดีขึ้น ย่อมเป็นที่ต้องการของชาวต่างชาติและนักร่วมลงทุน ปัจจุบันมีประเทศที่อนุญาติให้นักธุรกิจและนักลงทุนสามารถขอ PR ได้มีมากมาย เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศสิงค์โปร์ ประเทศฝรั่งเศส ประเทศแคนาดา เป็นต้น

.

‘การเรียน’ ข้อนี้เป็นถือเป็นบทพิสูจน์การก้าวข้ามขีดกำจัดของตนเอง เป็นที่รู้กันดีว่าการเริ่มเดินในก้าวแรกย่อมยากและท้าทายเสมอ การไปเรียน ไปใช้ชีวิตคนเดียวในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินความสามารถของมนุษย์ทุกคน เราต้องรู้จักที่จะเรียนรู้ ต้องปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการเข้าสังคม วัฒนธรรม การเมือง และภาษา เรียกได้ว่าเป็นการเริ่มเพื่อนำไปใช้อย่างแท้จริง

.

ส่วนใหญ่แล้วคนไทยมักจะใช้ข้อนี้เป็นตัวเลือกในการลองไปใช้ชีวิตในต่างแดน เพราะถือเป็นทางเลือกที่มี Option หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การลง Course เรียนภาษาตามสถาบันภาษาต่าง ๆ ส่วนมากเริ่มต้นที่ 3–6 เดือน และสูงสุดอยู่ที่ 3 ปีเลยทีเดียว หรือการลงเรียน Diploma คือ การเรียนวุฒิในระดับอนุปริญญา ส่วนใหญ่จะเน้นสอนแบบปฏิบัติจริง ๆ เน้นการลงมือทำในแต่ละสาขาวิชาชีพ เหมาะกับผู้เรียนที่ต้องการเรียนจบแล้วสามารถเริ่มงานได้ทันที ซึ่งส่วนมากจะนิยมเรียนกันในสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลนหรือเป็นที่ต้องการในประเทศนั้น ๆ เพื่อง่ายต่อการขอวีซ่า หรือได้สปอนเซอร์จากนายจ้างเพื่ออยู่ต่อในประเทศนั้น ๆ

.

ถ้าเราอยู่ครบตามกำหนดและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สามารถยื่นเรื่องเพื่อขอ PR หรือนายจ้างสามารถยื่นเรื่องเพื่อขอ PR ให้เราได้ นอกจากนี้ในแต่ละปี จะมีทุนจากรัฐบาลแต่ละประเทศ ที่มอบให้แก่นักศึกษาหรือนักเรียนที่มีคุณสมบัติตามที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยได้กำหนดไว้ เพื่อเข้าศึกษาต่อ โดยแต่ละโครงการจะมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป ซึ่งบางโครงการสามารถขอวีซ่าเพื่ออยู่ต่อในประเทศนั้นได้หลังจากเรียนจบ

.

คุณเมย์กล่าวทิ้งท้ายสั้น ๆ ในการสัมภาษณ์ไว้ว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราจ่ายไปมันได้คืนมาหมดเลยนะ มันเห็นเป็นรูปธรรม ที่ไทย ขยันขนาดไหนก็ไม่มีวันรวย จนยังไงก็จะจนอยู่อย่างนั้น แล้วที่นี่เขาก็ให้ความสำคัญกับทุกอาชีพ เอาจริง ๆ นะ ที่ไทยเหมาะสำหรับคนรวยไง แต่ที่นี่จะจนหรือรวยอยู่ได้หมด คนรวยอยู่ที่ไทยสบายไง คนจนอยู่ที่ไทยไม่สบาย แต่อยู่ที่นี่จะรวยหรือจนก็สบายหมด ทุกคนเท่าเทียมกัน”

.

ปัจจุบันประเทศที่คนไทยสนใจและอยากย้ายประเทศมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ แคนาดา เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ประเทศเหล่านี้ถือเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อในเรื่องของคุณภาพการศึกษาที่ดี ทัศนียภาพที่สวยงาม รัฐสวัสดิการที่พร้อมและใส่ใจจากทางรัฐบาล เคารพในสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เป็นประเทศที่เปิดรับและมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม อีกทั้ง 5 ประเทศเหล่านี้ยังเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติสามารถยื่นเรื่องเพื่อขอเป็นพลเมืองถาวรที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ด้วย

.

การย้ายประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มันคือโอกาสที่จะได้ลอง หากคุณเป็นผู้ที่ชื่นชอบในวัฒนธรรมที่หลากหลายของแต่ละชนชาติ และหลงรักการใช้ชีวิตในต่างแดน ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ที่จะช่วยให้คุณสามารถย้ายประเทศและอยู่ต่อได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้ลองหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ช่วยพัฒนาทักษะ ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการใช้ชีวิต

.

ถ้าคุณสมบัติพร้อม กายพร้อม ใจพร้อม ก็ลุยเลย ส่วนมันจะคุ้มค่ากับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ คุณเท่านั้นคือผู้ตัดสินใจ

.

ข้อมูลอ้างอิง

  • ภัทราวริน แซ่ย่าง เจ้าของ YouTube ช่อง Mary Infinity. สัมภาษณ์
  • ก้าวหน้า พงษ์พิพัฒน์ (2564). ย้ายประเทศกันเถอะ : คุยกับผู้ก่อตั้งกลุ่มคนอยากย้ายถิ่นที่มีคนร่วมเกือบ 6 แสนคนภายใน 3 วัน. จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-56973078
  • ไทยรัฐออนไลน์ (2564). ถ้าคุณไม่เปลี่ยนโลก…โลกจะเปลี่ยนคุณ ย้ายเลย 10 ประเทศคุณภาพชีวิตดีสุดในโลก. จาก https://www.thairath.co.th/lifestyle/travel/abroad/2083525
  • รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ (2564). เมื่ออเมริกันดรีมจากหาย อเมริกาจึงเบนเข็มสู่รัฐสวัสดิการ และอาจขึ้นภาษีครั้งใหญ่. จาก https://plus.thairath.co.th/topic/money/100698
  • Travel Kapook (2565). 10 ประเทศน่าย้ายไปอยู่ เช็คเลยว่าที่ไหนฮอตฮิต. จาก https://travel.kapook.com/view241317.html
  • Thai-Canada Group world class citizen (2563). เหตุผล 12 ประการเปลี่ยนสัญชาติย้ายประเทศไปแคนาดา. จาก https://www.thai-canada.com/17558346/why-immigrate-to-canada
  • Tony Education (2564). การเป็น Permanent Resident ที่แคนาดา ดีอย่างไร. จาก https://tonyeducation.com/permanent-resident-of-canada/
  • THE MATTER (2564). เมื่อโลกเข้าสู่สังคมสูงวัย สำรวจสวัสดิการผู้สูงอายุแต่ละประเทศเป็นยังไงบ้าง. จาก https://thematter.co/social/social-welfare-in-other-country
  • GO2SCHOLARSHIP (2559). การขอ RP Permanent Resident ใบเบิกทางสู่พลเมืองออสเตรเลีย. จาก https://www.go2scholarship.org/th/pr-permanent-residents-australia/
  • CP INTERNATIONAL (2564). วีซ่าลูก – สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่รักลูกสุดหัวใจ. จาก https://cpinternational.com/company-news/child-visa-opt-21/
  • World Competitiveness Ranking 2022 (2565). จาก https://www.imd.org/centers/world-competitiveness-center/rankings/world-competitiveness/

.

.

เรื่อง : อรุณฉาย เศวตวงษ์

ภาพ : สำนักข่าวอ่างแก้ว

บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Newsletter
Lorem ipsum dolor sit amet conse ctetur adipisicing elit, sed do eiusmod.