คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จากไปอย่างมีความสุข : เมื่อ ‘ความตาย’ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องหวาดกลัวเสมอไป

คนเราจะมีวันพรุ่งนี้ได้อีกกี่วัน?

.

หากชีวิตเป็นสิ่งชั่วคราว ไม่ได้ยืนยาวเหมือนรัฐบาลลุงตู่ วูบวาบเพียงชั่วครู่ไม่ได้เลิศหรูเหมือนในนิยาย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นปุบปับแล้วดับสูญไป ไม่ทันได้เตรียมใจ ความตายก็มาพรากจากเรา

.

‘ความตาย’ คือปลายทางสุดท้ายของชีวิตที่เมื่อนึกถึงเมื่อใดก็ใจหาย เหมือนความฝันที่เคยวาดไว้พังทลายลงตรงหน้า เป็นสัจธรรมของชีวิตที่บางคนรู้สึกว่ายากเกินกว่าจะทำใจยอมรับ แต่ในทางกลับกัน ‘ความตาย’ เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้มองย้อนกลับไปในอดีตที่ผ่านมา กับคนรัก กับความฝัน กับเรื่องราวต่าง ๆ ที่เคยเดินทางผ่านเข้ามาในทุกห้วงเวลาของชีวิต ที่กำลังจะแปรเปลี่ยนสภาพเป็นความทรงจำ ซึ่งจะถูกถ่ายทอดผ่านบทสนทนา และกลายเป็นเรื่องเล่าและบทเรียนแก่คนรุ่นต่อ ๆ ไป

.

ถ้าอย่างนั้นจะดีกว่าไหม หากเราได้เตรียมพร้อมรับมือกับ ‘ความตาย’ ที่กำลังจะมาถึงในสักวันหนึ่ง?

.

อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข

.

การเตรียมรับมือ ‘ความตาย’ ที่จะกล่าวถึงในที่นี้ คงไม่ได้หมายถึงการไหว้วอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การตั้งจิตภาวนา หรือการพาลูกหลานหิ้วปิ่นโตไปทำบุญ แต่เป็นการเตรียมรับมือกับความตายที่ถูกถ่ายทอดผ่านโครงการของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้ร่วมมือกับชีวามิตร (บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด) ซึ่งเป็นองค์กรที่มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีจนถึงลมหายใจสุดท้ายให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างทั่วถึง

.

โดยโครงการนี้ใช้ชื่อว่า ‘อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข’ เป็นโครงการที่เชิญชวนให้ประชาชนได้วางแผนชีวิตก่อนลาโลก เป็นคู่มือในการใช้ชีวิตให้คุ้มค่า เพื่อลมหายใจสุดท้ายที่เป็นสุข จุดประสงค์หลักของโครงการเชื่อว่า “ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีคุณภาพชีวิตระยะสุดท้ายที่ดี สามารถอยู่ได้อย่างมีความหมายและจากไปอย่างมีความสุข”

.

ในส่วนของเนื้อหาของโครงการจะประกอบไปด้วย การบอกเล่าเรื่องราวทั้งเรื่องที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม โดยตัวอย่างที่เราสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนในแง่ของรูปธรรม คือเรื่อง ‘ร่างกายกำลังบอกลา’ เป็นบทหนึ่งในโครงการที่หยิบยกเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพ และอธิบายการทำงานของร่างกายที่เสื่อมโทรมลงไปตามอายุขัยของมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราสามารถสังเกตเห็นและสามารถปฏิบัติตามได้

.

ส่วนเรื่องราวที่เป็นนามธรรม คือเรื่อง ‘ความปรารถนาที่แท้จริง’ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับช่วงสุดท้ายของชีวิตที่ทุกคนต้องการการดูแลรักษาที่ทรมานน้อยที่สุด ไม่เป็นภาระแก่คนรอบข้างและจากไปอย่างมีคุณภาพ ภายใต้การวางแผนชีวิตในอนาคตข้างหน้าว่าเราต้องการมีบั้นปลายชีวิตในรูปแบบไหน ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไกลตัวและไม่สามารถจับต้องได้เพราะเป็นเรื่องของอนาคต แต่อนาคตล้วนเกิดขึ้นจากปัจจุบัน ถ้าหากปัจจุบันเป็นรากฐานที่แข็งแรง มีการวางแผนที่ดี ก็จะส่งผลให้อนาคตดีตามขึ้นมาได้ และนั่นเป็นสิ่งที่เราสามารถมองเห็นและจับต้องได้ด้วยภาพจินตนาการในหัว ว่าเราสามารถกำหนดคุณภาพชีวิตในระยะสุดท้าย ให้ได้พบและสัมผัสกับการ ‘ตายดี’ และจากไปอย่างมีความสุขได้

.

‘การุณยฆาต’ ความหมายของการตายดี

.

จากที่ได้ทิ้งท้ายไว้ก่อนหน้านี้ถึงคำว่า ‘ตายดี’ แล้วคำคำนี้มันสื่อถึงอะไรกันแน่? ผู้เขียนอยากนำทุกท่านมาทำความรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า ‘การุณยฆาต’

.

คำว่า การุณยฆาต หรือ Euthanasia เป็นภาษากรีก ประกอบด้วยคำศัพท์ 2 คำ คือ Eu หมายถึง Good และ Thanatos หมายถึง Death ซึ่งแปลรวม ๆ แล้วมีความหมายว่า ตายดีตายสงบ โดยแนวคิดการุณยฆาตถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองผู้ป่วยในระยะสุดท้ายที่ไม่มีหนทางในการรักษาหรือทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บป่วย เป็นวิธีการที่ช่วยให้ผู้ป่วยหลุดพ้นจากความทรมาน โดยทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตลงด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

.

การุณยฆาตเชิงรับ (Passive Euthanasia) คือ การยุติการรักษาให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยในระยะสุดท้าย หรือการรักษาได้ดำเนินมาถึงขีดสุด และแพทย์หรือผู้ได้รับอนุญาต เลือกวิธีนี้เพื่อปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตและหลุดพ้นจากความเจ็บปวดของการรักษา ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด และถูกกฎหมายในหลายประเทศ

.

การุณยฆาตเชิงรุก (Active Euthanasia) คือ การุณยฆาตโดยการให้สารหรือวัตถุเร่งให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่เกิดข้อถกเถียงกันมากที่สุดในสังคมปัจจุบัน และยังไม่ได้รับการยอมรับในหลายประเทศ

.

นอกจากนี้ในทางกฎหมายสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ การยินยอมให้แพทย์หรือผู้อื่นที่ได้รับอนุญาต กระทำการฉีดสารหรือใช้วัตถุยุติชีวิตตามเจตจำนงผู้ป่วย และอีกประเภทคือ การยุติชีวิตด้วยตัวผู้ป่วยเอง ไม่ว่าจะเป็นการให้ยา การฉีดหรือกดปุ่ม โดยมีแพทย์เตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือให้ เรียกวิธีนี้ว่า Physician Assisted Suicide (PAS)

.

ในปี พ.ศ. 2565 มีเพียง 11 ประเทศทั่วโลกที่ยอมรับและมีกฎหมายรองรับการทำการุณยฆาต ได้แก่ เนเธอร์แลนด์, เบลเยียม, ลักเซมเบิร์ก, สวิตเซอร์แลนด์, ออสเตรเลีย, แคนาดา, โคลัมเบีย, สหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, ญี่ปุ่น และอินเดีย นอกจากนี้มีเพียงสวิตเซอร์แลนด์ประเทศเดียวในโลกเท่านั้น ที่อนุญาตให้ผู้ป่ วยจากต่างประเทศสามารถเดินทางไปเข้ารับการทำการุณยฆาตได้ เนื่องจากมีกฎหมายอนุญาตให้ผู้ป่วยยุติชีวิตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2485 และยังมีสถาบันเกี่ยวกับการยุติการรักษาสำหรับผู้ป่วยต่างชาติที่มีเพียงแห่งเดียวในโลก คือ Dignitas Suicide Clinic

.

ส่วนประเทศไทยยังไปไม่ถึงขี้นนั้น เพราะในไทยถือว่าการทำการุณยฆาตเป็นการฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งมีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต แต่มีเพียง ‘พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550’ ที่ประกอบไปด้วยเนื้อหารวม 55 มาตรา และมาตราซึ่งก่อให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด ก็คือมาตรา 12 ที่ระบุว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ การดำเนินการตามหนังสือเพื่อแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง” ซึ่งคนในสังคมไทยมองว่า การมีกฎหมายอนุญาตให้ผู้ป่วยไม่เข้ารับการรักษาตามขั้นตอน ถือว่าผิดศีลธรรมและจริยธรรมมนุษย์

.

ความตาย : สิทธิมนุษยชน หรือความหมายทางศีลธรรมและศาสนา

.

ปัจจุบันผู้คนในสังคมเกิดคำถามและข้อถกเถียงในประเด็นข้อกฎหมายการอนุญาตให้ทำการุณยฆาตเพิ่มมากขึ้น ทั้งในสังคมไทยและสังคมโลก โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่ทุกคนควรจะมีสิทธิเลือกวิธีการตายของตนเอง แต่ในด้านของศีลธรรมและศาสนาถือว่าการุณยฆาต ไม่ว่าจะทำกับใคร เพราะความหวังดีอย่างไร ต่างก็เป็นการฆ่าคนทั้งสิ้น และจริยธรรมในทางพุทธศาสนาเป็นจริยธรรมที่เด็ดขาดตายตัว การฆ่าก็คือการฆ่า ผิดศีลข้อที่หนึ่งทั้งสิ้น

.

ด้วยเหตุนี้จึงก่อให้เกิดข้อถกเถียงมากมายในสังคม ว่าเราควรจะให้ความสำคัญในประเด็นใดมากที่สุด หากจะมองในแง่ของสิทธิก็เป็นสิ่งที่ควรตระหนัก หรือในแง่ของศีลธรรมและศาสนาก็ไม่ควรมองข้าม ดังนั้นผู้เขียนจึงได้หยิบยกมุมมองในประเด็นนี้ ทั้งในแง่ของสิทธิ ศีลธรรมและศาสนา มาให้ผู้อ่านได้ประกอบกับความคิดเห็นของผู้อ่าน เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจ

.

โดย สิทธิมนุษยชน (Human Rights) เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิทางกฎหมายและสิทธิทางธรรมชาติ กล่าวคือสิทธิที่จะตายจึงเป็นสิทธิตามธรรมชาติ เพราะกฎเกณฑ์ของธรรมชาติได้กำหนดให้สัตว์และมนุษย์มีสัญชาตญาณในการดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ของตนเอง นอกจากนี้มนุษย์ยังมีพฤติกรรมที่ทำลายชีวิตของตนเองด้วย นั่นคือการฆ่าตัวตาย มนุษย์สามารถกำหนดว่าตนเองจะใช้ สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ (The Right to Life) หรือ สิทธิที่จะตาย (The Right to Die) ได้ตามความประสงค์ของแต่ละคน ซึ่งเป็นการยอมรับสิทธิในการเป็นเจ้าของร่างกายตนเอง รวมทั้ง ความมีอิสระในการตัดสินโชคชะตาของตนเอง (The Right to Self-Determination) ดังนั้นสิทธิที่จะตายจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นอิสระเสรีของมนุษย์

.

ขณะที่ฝั่งศีลธรรมและศาสนา มองว่าสิทธิที่จะตายนั้นมีความสลับซับซ้อนอยู่ไม่น้อย โดยในทางหนึ่งพระพุทธศาสนาเห็นว่าการเกิดมาเป็นมนุษย์เป็นเรื่องที่ยากอย่างยิ่ง ดังนั้นมนุษย์จึงมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาชีวิตของตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะมีโอกาสทำประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นให้มากที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นศาสนาก็ไม่ได้มองว่ามนุษย์ห้ามตายหรือจำเป็นต้องมีชีวิตที่เป็นอมตะ เพราะการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องที่เป็นสัจธรรมของชีวิตที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ

.

ซึ่งถ้ามองว่าคนเราไม่จำเป็นต้องตายด้วยความทุกข์ทรมาน เราก็สามารถจากโลกนี้ไปด้วยใจที่สงบได้ ขอเพียงแต่เรารู้จักเตรียมจิตใจในยามที่มีสุขภาพดี ให้พึงระลึกถึงความตายที่จะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เพื่อกระตุ้นให้ขวนขวายทำความดี สร้างบุญกุศล รวมทั้งฝึกจิตใจให้รู้จักปล่อยวาง ไม่ว่าเจ็บป่วย พลัดพราก สูญเสีย รวมทั้งความตาย หากทำเช่นนี้ได้ เราไม่เพียงแต่จะมีชีวิตที่สุขสบายเท่านั้น หากยังตายได้อย่างสงบเมื่อวันนั้นมาถึง

.

เหมือนดังในคลิปการบรรยายของ คุณเอกภพ สิทธิวรรณธนะ (มาร์ท) วิทยากรจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา และผู้ร่วมก่อตั้ง Peaceful Death ซึ่งได้ร่วมพูดคุยในหัวข้อการบรรยายเรื่อง เครื่องมือช่วยในการพูดคุย Advance Care Planning (ACP) หรือ การวางแผนสุขภาพล่วงหน้า เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา

.

โดยช่วงหนึ่งของการบรรยาย คุณมาร์ทได้กล่าวถึงความตายในแง่ของการพูดคุยให้กลายเป็นเรื่องปกติที่สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ในสังคม เพราะเรื่องของความตายไม่ได้เป็นเรื่องของภาพที่มีแต่สีดำ หรือไม่ได้มีแต่ความเศร้าโศก แต่ถูกกล่าวถึงในมิติที่ต่างออกไป ไม่ใช่เพียงแค่มิติของหนังสือธรรมะ และเป็นมากกว่ามิติของประเพณี แต่เพราะความตายเป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์และเป็นเรื่องของสุขภาพ

.

“ถ้าเราออกแบบงานศพของเราได้ ซึ่งงานศพของเรามันจะต่างออกไปจากประเพณีหรือเปล่า และเมื่อเราได้ลองคิดว่าความตายมันอาจจะไม่เหมือนที่ผ่านมา โดยการคิดนี่แหละที่ทำให้ความตายกลับมาในกระบวนการคิดของเรามากขึ้น และเมื่อนั้นความตายก็จะเป็นมิตรกับเรา มีความสัมพันธ์กับเราได้อย่างสบายใจมากขึ้น” คุณมาร์ทกล่าว

.

ความตาย’ ที่สังคมหยิบยื่นให้

.

โดยปกติในกระบวนการรักษาโรคทางการแพทย์นั้น นอกจากผู้ที่เป็นญาติแล้ว ตัวผู้ป่วยเองถือเป็นบุคคลที่มีสิทธิในการตัดสินใจร่วมกับแพทย์ผู้รักษาอาการ ในการยินยอมเข้ารับการรักษาตามขั้นตอนทางการแพทย์ ซึ่งคำตอบอาจเป็นไปได้ทั้งยินยอม คือยอมเข้ารับการรักษาตามขั้นตอน หรืออีกคำตอบคือไม่ยินยอม หรือที่เรียกว่า “การปฏิเสธการรักษา” ซึ่งทางการแพทย์ถือว่าเป็นการการุณยฆาตเชิงรับ เป็นที่ยอมรับได้ในสังคมโลก ส่วนในสังคมไทยก็ถือว่าสามารถกระทำได้เช่นเดียวกัน

.

แล้วผู้ป่วยที่ปฏิเสธการรักษา มีเหตุผลอะไรในการไม่เข้ารับการรักษากันแน่? เป็นการตัดสินใจของผู้ป่วยเอง หรือมีปัจจัยอื่น ๆ มาเกี่ยวข้อง?

.

แน่นอนว่าเหตุผลคือไม่อยากเจ็บปวดหรือทรมาน แล้วความทรมานนี้คืออะไร? ทรมานจากการรักษา หรือทรมานจากความรู้สึกผิดที่เป็นส่วนหนึ่งของภาระให้คนที่ตนเองรักต้องลำบาก เพราะว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขที่ไม่มีสวัสดิการให้แก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง และนี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญของการตัดสินใจกล้ำกลืนเลือกความตายแทนความเจ็บปวด เป็นการเลือกที่ไม่มีแม้แต่ตัวเลือก ไม่มีแม้แต่โอกาสได้ทบทวนความต้องการที่แท้จริงของตนเอง มีเพียงแค่ความตายที่สังคมหยิบยื่นให้

.

เมื่อถึงเวลากล่าวคำอำลา….

.

“หากวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิตคุณ ใครคือคนแรกที่คุณอยากขอบคุณ และใครคือคนแรกที่คุณอยากขอโทษ”

.

แน่นอนว่าทุกคนมีคำตอบของตนเองอยู่ในใจ และอาจกำลังครุ่นคิดอย่างหนักว่าเมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตใกล้มาถึง ยังมีสิ่งใดบ้างที่เรายังไม่ได้ทำ หรือได้ทำบางอย่างผิดพลาดไป

.

เหมือนกับในภาพยนตร์ไทยเรื่อง ‘One for the Road วันสุดท้าย…ก่อนบายเธอ’ เรื่องราวของ ‘อู๊ด’ (รับบทโดย ไอซ์ซึ-ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์) ที่รู้ว่าตัวเองจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน จึงขอให้ ‘บอสง (รับบทโดย ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร) เพื่อนสนิทที่เคยใช้ชีวิตร่วมกันที่นิวยอร์ก มาขับรถร่วม Road Trip คืนของให้อดีตคนรัก พร้อมกับทบทวนความสัมพันธ์ ทั้งตอนที่เคยอยู่ด้วยกันและวันที่จากลา

.

เมื่อเราลองพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ในหนังแล้ว ก็พบว่ามีหลายข้อคิดที่น่าสนใจมากที่ได้มาจากหนังเรื่องนี้ สิ่งที่หนังพูดถึงก็คือความไม่สมบูรณ์ และความผิดพลาดจากความเป็นมนุษย์ เพราะถ้าสังเกตดูจะเห็นว่าไม่มีตัวละครไหนที่ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ ต่างคนต่างก็เคยทำพลาดด้วยกันทั้งนั้น อยู่ที่แต่ละคนจะจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านั้นได้อย่างไร

.

เช่นเดียวกัน ถ้าหากเรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นกับตัวเรา เราเองก็คงทำตัวไม่ถูก และเป็นเรื่องที่ทำใจยอมรับได้ยากมากเช่นกัน เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินจะรับมือ และคงเป็นความรู้สึกที่น่าเสียดายและเสียใจอย่างมาก ที่ต้องยอมรับว่าเรื่องราวทั้งหมดกำลังจะจบลง คงได้เพียงแค่คิดว่าถ้าเรามีโอกาสในการเลือกอีกสักครั้ง เราอยากจะเลือกใช้ชีวิตแบบไหน และวางแผนในอนาคตไว้อย่างไร หรือแม้แต่การกลับไป ขอโทษ ขอบคุณ และขอให้โชคดี ก็คงทำไม่ได้เช่นเดียวกัน

.

เพราะเมื่อความตายมาถึง สิทธิในการเลือกก็จะลดน้อยลงไป อยู่ที่ว่าใครจะจากไปอย่างทรมานมากหรือทรมานน้อย จากไปอย่างสงบหรือจากไปอย่างมีห่วง เราก็ไม่สามารถเลือกได้เช่นเดียวกัน เพราะเราไม่มีสิทธิ์เพราะเขาไม่ให้เรา

.

มีเพียงแต่ความตายเท่านั้นที่อยู่กับเราเสมอมา และตลอดไป

.

ข้อมูลอ้างอิง

  • Healthline (2561). Euthanasia: Understanding the Facts. ที่มา https://www.healthline.com/health/what-is-euthanasia
  • THE STANDARAD (2565). ขอโทษที่ทำให้เจ็บ ขอบคุณที่รักกัน 10 เรื่องราวทบทวนความสัมพันธ์จาก One for the Road. ที่มา https://thestandard.co/one-for-the-road-10/.
  • ThaiPBS (2562). “การุณยฆาต” คำขอร้องในวาระสุดท้าย. ที่มา https://news.thaipbs.or.th/content/278172.
  • สสส X RISE (2561). อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข. ที่มา https://www.thaihealth.or.th/Content/43092-‘
  • Thaipublica (2564). ถึงเวลาหรือยังสำหรับกฎหมายการุณยฆาตในประเทศไทย?. ที่มา https://thaipublica.org/2021/04/mano-laohavanich08/.
  • Peaceful Death (2565). เครื่องมือช่วย ในการพูดคุย ACP. ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=gOaMAISHq4w&t=1154s.

.

.

เรื่อง : โชคทวี ฤทธิ์เต็ม

ภาพ : สำนักข่าวอ่างแก้ว

บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Newsletter
Lorem ipsum dolor sit amet conse ctetur adipisicing elit, sed do eiusmod.