“สิ่งที่เราไม่อยากให้หายไปจากอมก๋อยก็คือธรรมชาติและวัฒนธรรมของเรา เราควรรักษาสืบต่อให้ลูกหลานต่อไป” ดวงแก้ว – พรชิตา ฟ้าประทานไพร เยาวชนหมู่บ้านกะเบอะดิน กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
.
ที่มาของประโยคข้างต้น มาจากการที่ผู้คนในหมู่บ้านกะเบอะดิน ซึ่งเป็นชุมชนชาวกะเหรี่ยงโปว์ในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับรู้ว่ามีคนต้องการทำ ‘โครงการเหมืองถ่านหิน’ ขึ้นในชุมชนของพวกเขา โดยที่ผู้คนที่นั่นไม่ได้รับรู้และมีส่วนร่วมในการตัดสินใด ๆ
.
เรื่องดังกล่าวทำให้ดวงแก้วและผู้คนอีกมากมายในหมู่บ้านเกิดความกังวลว่า หากยอมให้เหมืองถ่านหินเกิดขึ้น อาจส่งผลต่ออนาคตของพวกเขาในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อที่พื้นที่ที่ใช้ในการทำมาหากิน พื้นที่ที่เป็นเป็นที่อยู่อาศัย ต่อเนื่องไปถึงผลกระทบวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงของที่อาจจะหายไป โดยเฉพาะวัฒนธรรมการแต่งกายที่มีความเป็นเอกลักษณ์และสวยงาม
.
ดวงแก้วเล่าว่าชาวกะเหรี่ยงมีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองอย่าง ‘เสื้อกะเหรี่ยง’ แม้ว่าในปัจจุบัน เสื้อผ้าแบบอื่น ๆ จะเข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงมากขึ้น แต่การการแต่งกายด้วยเสื้อกะเหรี่ยงก็ยังมีให้เห็นอยู่ ไม่ได้หายไปไหน ชาวบ้านหลาย ๆ คน โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ยังคงใส่เสื้อผ้าเหล่านี้ในชีวิตประจำวันโดยตลอด และในช่วงโอกาสสำคัญต่าง ๆ ก็จะได้เห็นชาวบ้านจำนวนมากหรือแทบทุกคนแต่งกายด้วยชุดประจำกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น งานวัด งานปีใหม่กะเหรี่ยง โดยงานนี้ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคม จะเป็นเวลาที่ผู้คนในชุมชนกะเบอะดินต่างใส่เสื้อกะเหรี่ยงกันในวันที่ทำพิธี
.
เครื่องแต่งกายต่าง ๆ ของชาวกะเหรี่ยงนั้นมีชื่อเรียก โดยเสื้อกะเหรี่ยงสำหรับผู้ชายจะเรียกว่า ‘ช๋าย’ ชุดของผู้หญิงจะเรียกว่า ‘ช๋ายอ๋วย’ ส่วนชุดของผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว เรียกว่า ‘ช๋ายเมืองเช๋ย’ ซึ่งทั้งหมดนี้ชาวบ้านจะทอด้วยมือเอง
.
การทอผ้าของชาวกะเบอะดิน มี ‘ฝ้าย’ เป็นวัตถุดิบสำคัญ ส่วนใหญ่ชาวกะเบอะดินนิยมปลูกฝ้ายขาวมากกว่าฝ้ายตุ่นหรือฝ้ายสีน้ำตาล โดยฝ้ายขาวมีสัดส่วนของผลผลิตมากกว่าฝ้ายตุ่นถึงสามเท่า เมื่อเก็บเกี่ยวฝ้ายมาแล้ว ชาวบ้านจะนำฝ้ายมา ‘อีด’ เอาเมล็ดออก จากนั้นปั่นให้เป็นหลอด แล้ว ‘เข็น’ ให้เป็นด้ายเพื่อนำไปใช้ในการทอต่อไป
.
ส่วนการย้อมสีนั้น ชาวกะเหรี่ยงนิยมใช้ ‘คึ่ย’ หรือ ‘ต้นคุย’ ไม้เถาที่จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด ซึ่งสามารถพบเห็นได้ตามป่าทั่วไปมาใช้ในการย้อมผ้า สีที่ได้จากการย้อมด้วยคึ่ยคือสีแดงเข้ม ค่อนไปทางสีเลือดหมู ถือเป็นสีสันที่สะท้อนผ่านเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เครื่องแต่งกายของชนเผ่ากะเหรี่ยง อันเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านกะเบอะดินแห่งนี้
.
.
.
.
.
.
.
.
เรื่อง / ภาพ : ธนรัชต์ ใจดี
บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่