คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปู่แสะย่าแสะ : ความเชื่อและพิธีกรรม จะคงอยู่หรือเสื่อมสลาย ?

หากกล่าวถึงจังหวัดเชียงใหม่ หลาย ๆ คนคงนึกถึงเมืองแห่งวัฒนธรรมอันเก่าแก่ ไม่ว่าจะเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตกาล หรือโบราณสถานที่ยังคงอยู่ บ่งบอกถึงวิถีชีวิตของ ‘คนเมือง’ ที่อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ ว่ามีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง ถือเป็นหลักฐานที่แสดงออกมาได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมที่สุด

.

หนึ่งในวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับชาวล้านนามาอย่างยาวนาน นั่นคือความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับ ‘ผี’ ที่อยู่คู่กับการดำรงชีวิต โดยในแต่ละพื้นที่ของล้านนาก็มีความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป และเมื่อกล่าวถึงจังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในความเชื่อเรื่องผีที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ก็คงไม่พ้นความเชื่อเกี่ยวกับ ‘ปู่แสะย่าแสะ’

.

ปู่แสะย่าแสะเป็นชื่อยักษ์ในความเชื่อของชาวลัวะ ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่แต่เดิมในพื้นที่อาณาจักรล้านนา ชาวลัวะนับถือผีก่อนที่ศาสนาพุทธจะเข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่ โดยตามตำนานเล่าว่าปู่แสะย่าแสะซึ่งเป็นยักษ์ดุร้ายได้เผชิญหน้ากับพระพุทธเจ้าและเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทั้งคู่จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาพุทธและหันมารับศีลห้าเลิกฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แต่เนื่องจากปู่แสะย่าแสะเป็นยักษ์มาก่อน จึงขออนุญาตต่อพระพุทธเจ้าที่จะกินสัตว์ตามสัญชาติญาณยักษ์

.

จากความเชื่อดังกล่าว ประกอบกับการที่ชาวลัวะเชื่อว่าปู่แสะย่าแสะเป็นผีที่คอยปกปักรักษาผืนดิน และคุ้มครองชาวบ้านให้อยู่อย่างสงบสุข จึงนำมาสู่การฆ่าควายเพื่อเซ่นสังเวย และเพื่อเป็นการตอบแทนที่ปู่แสะย่าแสะช่วยดูแล โดยประเพณีดังกล่าวเรียกว่า ‘เลี้ยงดง’ จัดขึ้นในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 เหนือ และมีการทำสืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน ในพื้นที่ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

.

ปัจจุบันประเพณีดังกล่าวจะจัดขึ้นในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม – มิถุนายนของทุกปี ณ บริเวณหน่วยพิทักษ์ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ที่ 4 (แม่เหียะ) โดยในพิธีจะนําควายตัวผู้มาเชือดเป็นเครื่องเซ่นก่อนจะมีคนเชิญวิญญาณผีปู่แสะย่าแสะ พร้อมลูก ๆ ทั้งหมด 32 ตนมาเข้าร่างของคนทรงหรือ ‘ม้าขี่’ จากนั้นคนทรงก็จะทำการกินเนื้อควายตัวผู้ที่ถูกเชือดไว้ก่อนหน้านั้นแบบสด ๆ และในพิธียังมีการแขวนผ้าพระบฏเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า เพื่อให้สอดคล้องกับเรื่องราวในตำนาน

.

แม้จะเป็นประเพณที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และยังคงปฏิบัติกันเป็นประจำในทุก ๆ ปี แต่จากการที่สังคมมีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับแนวคิดของผู้คนที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา เมื่อภาพของประเพณีเลี้ยงดงออกไปสู่สายตาของคนภายนอก ก็ส่งผลให้เริ่มมีการถกเถียงถึงความเชื่อเกี่ยวกับปู่แสะย่าแสะมากขึ้น

.

โดยคนที่อยู่ภายนอกชุมชนบางส่วนมีความเห็นว่าประเพณีเลี้ยงดงนั้นป่าเถื่อนเพราะมีการทารุณกรรมสัตว์ จนเกิดความขัดแย้งทางความเชื่อระหว่างคนในชุมชนและคนนอกชุมชน ทำให้ช่วงหนึ่งมีการยกเลิกประเพณีนี้ไป ก่อนที่จะกลับมาจัดขึ้นอีกครั้งตามคำเรียกร้องของชาวบ้านในตำบลแม่เหียะ เพราะพวกเขาเชื่อว่าหากไม่บวงสรวงผีปู่สะย่าแสะ อาจจะทำให้เกิดอาเพศ ผู้คนล้มป่วย หรือฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลได้

.

การเห็นต่างเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องปู่แสะย่าแสะ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าประเพณีนี้จะยังคงอยู่หรือเสื่อมสลายหายไป ซึ่งหากลองพิจารณาดูแล้ว จะสังเกตได้ว่าความเชื่อเหล่านี้ผูกติดอยู่กับคนเก่าคนแก่เสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในครอบครัวที่ถูกปลูกฝังความเชื่อเรื่องปู่แสะย่าแสะ พวกเขามักบอกว่าตนไม่เชื่อ หากแต่ไม่ลบหลู่และเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อนั้นได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีคนรุ่นใหม่อีกส่วนหนึ่งที่ยังเชื่อเรื่องปู่แสะย่าแสะอยู่

.

ณหทัย แสนมงคล นักวิชาการอิสระ อธิบายถึงความเชื่อเรื่องปู่แสะย่าแสะว่า เป็นการสร้างคำอธิบายเพื่อตอบโจทย์ที่ว่า ทำไมคนที่อยู่มาแต่เดิมถึงต้องหลีกทางให้กับคนที่มาใหม่ ซึ่งก็คือคนเมืองหรือคนล้านนาที่เข้ามาอยู่ในดินแดนที่เคยเป็นของคนลัวะนั่นเอง

.

“ปู่แสะย่าแสะเป็นเรื่องที่คนเมืองมาแทนที่ในแผ่นดินของคนลัวะ มันคือคู่ตรงข้ามระหว่างคนที่อยู่เดิมกับคนที่มาใหม่ ปู่แสะย่าแสะคือภาพตัวแทนของคนลัวะ ทำให้เป็นยักษ์เป็นมาร เป็นคนที่น่ากลัว ป่าเถื่อน ต้องกินแต่ควายดิบ ๆ หรือของที่ไม่ผ่านการปรุง ขณะคนที่มาใหม่คือผู้ที่เจริญกว่า เป็นพุทธ กินอาหารก็ต้องปรุงสุก แล้วก็ไม่ได้โหดเหี้ยมอำมหิตเหมือนปู่แสะย่าแสะ มันก็เลยเป็นตํานานที่ช่วยผสานสิ่งที่ดูไม่ลงรอยกันให้มันลงรอยกัน เพื่ออธิบายสิ่งที่เป็นคู่ตรงข้ามกันในสังคม”

.

ณหทัยกล่าวต่อไปว่า การที่ความเชื่อเรื่องปู่แสะย่าแสะยังคงอยู่ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยังมีคนที่มองว่าสิ่งนี้เป็นรากเหง้าของตัวเอง “ยังมีคนกลุ่มที่คาดหวังว่าเรื่องเล่าของปู่แสะย่าแสะคือสิ่งที่สะท้อนอัตลักษณ์ของตนเอง คือรากเหง้าของตนเอง มนุษย์เราเนี่ยจะมีตัวตนได้เพราะว่าเรามีเรื่องเล่าเกี่ยวกับบรรพบุรุษ มันทำให้รู้ว่าเราเป็นใครมาจากไหน คนส่วนหนึ่งเลยต้องการเรื่องเล่าเกี่ยวกับปู่แสะย่าแสะ เพื่อให้รู้ว่าตัวเองเป็นใคร เพื่อจะได้บอกว่าฉันเป็นคนที่อยู่ดอยคํา ฉันเป็นคนที่มีตํานาน เป็นลูกหลานของปู่แสะย่าแสะนะ”

.

ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งที่ณหทัยกล่าวว่ามีผลต่อการสืบต่อประเพณีเลี้ยงดงและความเชื่อเรื่องปู่แสะย่าแสะเช่นกัน คือการที่มนุษย์เรายังคงนับถือผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เพราะเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยขจัดปัญหาหรือความไม่แน่นอนต่าง ๆ ในชีวิตให้กับตนเองได้

.

“ในปัจจุบันที่มีปัญหาหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจหรือชีวิตความเป็นอยู่ คนส่วนหนึ่งพบว่ารัฐไม่สามารถพึ่งพาได้ สถาบันทางการไม่สามารถให้คําตอบในสิ่งที่พวกเขาสงสัยได้ เวลาที่เราเดือดร้อนเราพึ่งพาสถาบันนั้น ๆ ไม่ได้ ตรรกะเหตุผลต่าง ๆ ไม่สามารถนำมาปลอบโยนยามที่เราทุกข์ ยามที่เราต้องการ ยามที่เราสูญเสียได้

.

“มนุษย์เราไม่ได้ต้องการเหตุและผลเสมอไป บางเวลาเราต้องการการปลอบโยน ต้องการสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกมั่นใจหรือมีความหวัง แล้วเรื่องของผีก็มาปลอบโยนด้วยความหวังของโลกหน้าหรือความหวังในอนาคต ก็เลยทำให้ยังมีผู้คนที่เครพนับถือ หรือแม้แต่คนกลุ่มใหม่ ๆ ที่เราคิดว่าเขาอาจจะไม่เชื่อเรื่องแบบนี้แล้ว แต่ว่าก็เชื่อและหันมาเคารพ เพราะว่าสุดท้ายแล้วผีให้ในสิ่งที่สถาบันทางการให้เราไม่ได้”

.

ความเชื่อเรื่องปู่แสะย่าแสะและพิธีเลี้ยงดงจะยังคงดำเนินต่อไป เช่นเดียวกับที่เราจะได้เห็นภาพประเพณีเลี้ยงดงปรากฏผ่านสื่อต่าง ๆ และได้เห็นผู้คนออกมาแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้ในแง่มุมต่าง ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ ตราบเท่าที่ยังมีคนสืบสานสิ่งเหล่านี้ให้คงอยู่กับชุมชนและสังคม

.

ส่วนความเชื่อและประเพณีนี้จะคงอยู่ไปได้อีกนานแค่ไหน จะค่อย ๆ หายไปหรือดำรงอยู่ คงไม่ใช่สิ่งที่จะชี้ชัดกันได้ แต่ตราบใดที่มนุษย์เรายังต้องการการปลอบประโลมในภาวะที่ไร้ทางออก ยังมีความกลัวถึงเรื่องของตนเองในอนาคต ก็เป็นธรรมดาที่พวกเขาจะต้องแสวงหาสิ่งที่ตัวเองรู้สึกว่าสามารถพึ่งพาหรือยึดเหนี่ยว ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องราวของปู่แสะย่าแสะ หรือเรื่องอื่น ๆ ก็เป็นไปได้เช่นกัน

.

และสุดท้ายแล้วความเชื่อเรื่องปู่แสะย่าแสะก็คงจะขึ้นอยู่กับวันเวลาที่ไหลไปตามแรงหมุนของโลก และวิถีชีวิตของผู้คนที่ต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งนี้นั่นเอง ว่าจะนำพาความเชื่อนี้ให้เดินไปอย่างไรในอนาคต

.

ข้อมูลอ้างอิง

  • ณหทัย แสนมงคล นักวิชาการอิสระ : สัมภาษณ์
  • อาสา คำภา. ปู่แสะย่าแสะ กับประเพณีเลี้ยงผีเมืองเชียงใหม่. สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. จาก https://so05.tci-thaijo.org/index.php/sjss/article/view/20381/17699
  • workpointTODAY. เซ่นวิญญาณปู่แสะ-ย่าแสะ ร่างทรงกินเนื้อควายดิบ ประเพณีโบราณคู่เชียงใหม่. จาก https://workpointtoday.com/%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%9B%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%B0-%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%B0/
  • สุดารัตน์ รัตนพงษ์. การจัดการความขัดแย้งด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น กรณีศึกษา ประเพณีเลี้ยงดง หรือผีปู่แสะผ่าแสะ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. มหาวิทยาลัยนเรศวร. จาก https://doi.nrct.go.th/ListDoi/listDetail?Resolve_DOI=10.14457/NU.the.2014.31

.

.

เรื่อง : ชลธิชา ปะโมนะตา

ภาพ : สำนักข่าวอ่างแก้ว

บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Recent Posts
Newsletter
Lorem ipsum dolor sit amet conse ctetur adipisicing elit, sed do eiusmod.