คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รับมือทุกปัญหา ‘สุนัขจรจัด’ ด้วย ‘พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์’

‘สุนัข’ เป็นหนึ่งในสัตว์ที่ถูกทิ้งเป็นจำนวนมากในประเทศไทย จากปี 2559 ที่ข้อมูลระบุว่ามีสุนัขจรจัดจำนวน 758,446 ตัว แต่เมื่อถึงปี 2562 จำนวนสุนัขจรจัดเพิ่มขึ้นเป็น 2.493 ล้านตัว

.

จากข้อมูลดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าภายในเวลาเพียง 3 ปี มีสุนัขจรจัดเพิ่มขึ้นมาถึง 1,734,554 ตัว เฉลี่ยสามปีก็ตกประมาณปีละห้าแสนกว่าตัว ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานี้กระจายตัวอยู่ทั่วไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งที่สาธารณะและแหล่งชุมชน

.

ในบางพื้นที่คนก็อาจเอ็นดูและให้อาหารแก่สุนัขเหล่านี้ แต่บางพื้นที่คนก็อาจไม่ชอบ ไปจนถึงการลงมือทำร้ายสุนัขได้ ส่วนหน่วยงานก็เข้าถึงไม่ทั่ว บางพื้นที่สุนัขจรจัดก็กลายเป็นภัยก่อความหวาดกลัวให้คนในชุมชน ไม่ว่าจะกลัวโรคพิษสุนัขบ้า ที่พอนึกถึงสุนัขจรจัดทีไรก็มักจะนึกถึงโรคนี้ด้วย หรือว่ากลัวเพราะสุนัขมีพฤติกรรมก้าวร้าว เกรงว่าพวกมันจะทำร้ายไม่ว่าร่างกายหรือทรัพย์สิน

.

เมื่อประเทศไทยมีการประกาศใช้ ‘พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์’ ขึ้นมา มีหลายคนไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว เพราะคิดว่าเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อคุ้มครองฝั่งสัตว์เพียงฝ่ายเดียว ไม่ได้ดูแลฝั่งของคนที่อาจได้รับผลกระทบหรือความเดือดร้อนจากสัตว์ในกรณีต่าง ๆ ซึ่งในความเป็นจริง สิ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ก็คือ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีส่วนที่คุ้มครองคนได้รับอันตรายจากสัตว์อีกด้วย

.

รู้จัก ‘พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์’

.

‘พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557’ หรือที่คนทั่วไปมักเรียกกันติดปากว่า ‘พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์’ เป็นกฎหมายที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2557สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือการป้องกันการทารุณสัตว์ โดยระบุไว้ในมาตราที่ 20 ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

.

โดยการทารุณกรรมตามกฎหมายนี้ได้แก่ การทำให้สัตว์เจ็บปวดทางร่างกาย จิตใจ หรือตาย การใช้สัตว์พิการ ชรา ป่วย ท้องเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ การใช้สัตว์ทำงานเกินควร ใช้สัตว์ชราหรืออ่อนเกินวัยทำงาน และการใช้ประกอบกามกิจ

.

สำหรับการกระทำที่ไม่ถือว่าเป็นการทารุณสัตว์ ระบุไว้ในมาตรา 21 ได้แก่ การฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหาร การฆ่าสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ การฆ่าสัตว์เพื่อควบคุมโรคระบาด การฆ่าสัตว์ที่แพทย์ลงความเห็นว่าอาการป่วยหนัก การฆ่าสัตว์ตามความเชื่อทางศาสนา การฆ่าสัตว์เพื่อป้องกันตัว การกระทำใด ๆ ต่อร่างกายสัตว์ซึ่งเข้าลักษณะของการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ การตัด หู หาง ขน เขา หรืองาโดยมีเหตุอันสมควรและไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์ การจัดให้สัตว์มีการต่อสู้กันตามประเพณี การกระทำอื่นใดที่มีกฎหมายกำหนดให้สามารถกระทำได้เป็นการเฉพาะ และการกระทำอื่นใดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

.

ส่วนมาตรา 22 เป็นส่วนที่เกี่ยวกับเจ้าของสัตว์ โดยระบุว่าเจ้าของต้องจัดให้สัตว์มีที่อยู่ น้ำ อาหาร ให้เหมาะสม ขณะที่มาตรา 23 ระบุว่าเจ้าของห้ามปล่อยหรือละทิ้งสัตว์ ให้พ้นความดูแลของตนเอง ยกเว้นการยกให้คนอื่น ดังนั้นหากใครนำสัตว์ไปทิ้งตามวัดหรือตามชุมชน ก็จะมีโทษตามมาตรา 23 ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือถ้าดูแลสัตว์อย่างไม่เหมาะสมแล้วมีคนร้องเรียนก็จะมีโทษเช่นกัน

.

คุ้มครองทั้ง ‘สัตว์’ และ ‘คน’

.

หลายคนคิดว่า พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ทำหน้าที่คุ้มครองแค่สัตว์อย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้ว กฎหมายยังคุ้มครองมนุษย์ในกรณีที่ถูกสัตว์ทำร้ายหรือสร้างความเสียหายอีกด้วย

.

ในรณีของสุนัข ถือเป็นสัตว์ควบคุมตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ที่ต้องมีเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ปรากฏอยู่ ซึ่งก็คือเครื่องหมายห้อยคอรูปกาชาด ที่แสดงว่าสุนัขได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว

.

เมื่อพบเห็นสุนัขที่ไม่ปรากฏเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ เจ้าหน้าที่หน่วยงานท้องถิ่นมีอำนาจจับสัตว์ควบคุมนั้นเพื่อกักขัง และถ้าไม่มีเจ้าของมารับคืนภายใน 5 วัน เจ้าหน้าที่หน่วยงานท้องถิ่นมีอำนาจทำลายสุนัขตัวนั้นได้ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 และถ้าเจ้าหน้าที่หน่วยงานท้องถิ่นไม่ดูแลจัดการสุนัขจรจัด จนสุนัขจรจัดไปทำร้ายคน ไม่ว่าทางร่างกายหรือทรัพย์สิน เจ้าหน้าที่หน่วยงานท้องถิ่นก็ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย

.

กรณีที่สุนัขโดนทำร้าย เช่น ถูกตีจนขาหัก ถูกตีจนตาย ถูกวางยาเบื่อจนตาย ผู้ลงมือกระทำก็จะได้รับโทษตามมาตรา 20 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ก็มีกรณียกเว้น คือถ้าสุนัขเป็นฝ่ายทำร้ายร่างกายหรือทรัพย์สินของคนหรือสัตว์อื่นก่อน คนคนนั้นก็สามารถป้องกันตัวได้

.

‘รถชนสุนัข’ ใครรับผิดชอบ ?

.

กรณีสุนัขถูกรถชน เป็นตัวอย่างของเหตุการณ์ที่มักจะเกิดขึ้นกับสุนัขเป็นประจำ ทั้งที่มีเจ้าของและเป็นสุนัขจรจัด ส่วนใหญ่ไม่สามารถเอาผิดกับใครได้ และบางครั้งยังเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่ไม่สามารถหาคนรับผิดชอบได้ แต่จริง ๆ แล้วกฎหมายมีเนื้อหาที่ครอบคลุมเรื่องดังกล่าว และมีการกำหนดโทษเอาไว้แล้ว

.

เมื่อเกิดเหตุสุนัขถูกรถชน ต้องดูว่าสุนัขตัวนั้นมีเจ้าของหรือไม่ ถ้ามี เจ้าของสุนัขจะกลายเป็นคู่กรณีที่มีความผิดฐานปล่อยให้สุนัขออกมาวิ่งเล่นบนถนน ซึ่งถือว่ากีดขวางทางจราจรตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดกับรถ ส่วนคนขับรถไม่ถือว่ามีความผิด ไม่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายอะไรไม่ว่าสุนัขจะบาดเจ็บหรือตาย แต่ถ้าเจ้าของสุนัขสามารถยืนยันได้ว่าดูแลสุนัขดีแล้ว เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัยก็มีข้อยกเว้น

.

หรือถ้าสุนัขเป็นสุนัขจรจัดไม่มีเจ้าของ ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องค่าเสียหายกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้ แต่ถ้าไม่อยากให้ยุ่งยาก หากทำประกันอบัติเหตุชั้น 1 ไว้ก็สามารถเคลมประกันได้เช่นกัน

.

นอกจากนี้หากการชนเป็นเพราะคนตั้งใจขับยานพาหนะชนสุนัข คนขับถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 หรือถ้าคนขับขับยานพาหนะเข้าไปในที่ส่วนบุคคลแล้วไปชนสุนัข คนขับก็จะมีความผิดและต้องรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดกับสุนัขนั้น ๆ

.

อีกด้านของกฎหมาย

.

“ถ้าพูดถึงกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับสุนัข ในเมืองไทยยังไม่มี ส่วนใหญ่ที่ใช้กันจะเป็น พ.ร.บ.ที่ควบคุมองค์กร อย่างเรื่องสาธารณสุข สุขอนามัย สุขภาพ พ.ร.บ.ควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ แล้วก็ พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ที่เป็นตัวล่าสุด” เกรียงสิทธิ์ จันทร์ทา รองประธานของมูลนิธิ ดิ อาร์ค กล่าว

.

เกรียงสิทธิ์อธิบายว่าการมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัตว์นั้นในด้านหนึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้มีกฎระเบียบที่ชัดเจนตั้งแต่การเลี้ยงไปจนถึงการจัดการกับสัตว์ที่เป็นสัตว์จรจัดเร่ร่อน แต่อีกด้านหนึ่ง สังคมไทยมักไม่อยากมีปัญหาความขัดแย้ง โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องสัตว์เลี้ยง หากไม่ใช่กรณีที่รุนแรงหรือเจ้าของรักสัตว์มาก ๆ สุดท้ายเรื่องมักจบลงที่การไม่ใช้มาตรการทางกฎหมาย

.

“สมมติว่ามีเหตุสุนัขตาย หรือว่าสุนัขของคนอื่นมาสร้างความเดือดร้อน อาจจะมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งไม่พอใจกัน แต่ถามว่าจะไปถึงขั้นใช้กฎหมายไหม ก็มักจะไปจบที่ว่าไม่อยากให้เป็นคดีความฟ้องร้องกัน ถ้าอยู่ข้างบ้านกันก็อาจจะแค่ต่างคนต่างอยู่ไม่คุยกันอีกก็เท่านั้น ส่วนสื่อก็ไม่ค่อยทำข่าวเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว”

.

“อีกอย่างคือหลายคนมองว่าเรื่องกฎหมายมันเสียเวลา เสียเงินเยอะ ก็เลยไม่อยากจะดำเนินคดี” เกรียงสิทธิ์กล่าวต่อ “เคยมีเคสมีคนส่งสุนัขไปรักษาที่โรงพยาบาล แล้วโรงพยาบาลทำใหสุนัขตาย พอมาดูกระบวนการฟ้อง กลายเป็นว่าค่าดำเนินการเยอะกว่าค่าทดแทนที่น่าจะได้รับอีก แต่ว่าเจ้าของเขารักสุนัขของเขามาก เขาเลยสู้คดี เรื่องทำนองนี้มีหลายเคสแต่ไม่เป็นข่าว อย่างฝรั่งบางคนถ้าเป็นเรื่องทำนองนี้เขาจะฟ้องร้องกันเลย”

.

สำหรับคนที่ต้องการเลี้ยงสัตว์ สิ่งที่ต้องมีคือความรักความใส่ใจ ศึกษาสัตว์นั้นให้ละเอียด มอบความรัก ที่อยู่ อาหารที่เหมาะสม ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงรายได้รายจ่ายของเราด้วย ว่าสามารถแบกรับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงสัตว์ได้ไหม จะได้ไม่ต้องนำสัตว์ที่เลี้ยงไปทิ้งทีหลังให้กลายเป็นสัตว์จรจัด

.

เพราะแม้เราจะมีกฎหมายที่ช่วยดูแลสวัสดิภาพของสัตว์ และป้องกันไม่ให้คนทำร้ายรังแกสัตว์ ไม่ว่าจะสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์จรจัด แต่การดูแลเอาใจใส่สัตว์ด้วยความรักความเมตตา และให้เขาได้อาศัยอยู่ร่วมโลกกับเราอย่างมีความสุข ก็น่าจะดีกว่าการต้องเอากฎหมายมาบังคับใช้ ด้วยเหตุที่คนไม่เมตตาและไม่ปฏิบัติต่อสัตว์อย่างที่สมควรจะเป็น

.

ข้อมูลอ้างอิง

  • สำนักข่าวไทย. เปิดข้อมูลประชากรสุนัขในไทย 7.3 ล้านตัว เป็นสุนัขจรจัด 758,000 ตัว กทม.มากสุด. จาก https://tna.mcot.net/tna-241353
  • กรมปศุสัตว์. อธิบดีกรมปศุสัตว์ให้สัมภาษณ์ TV Thai PBS โครงการสุนัขชุมชนเพื่อการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดอย่างยั่งยืน. จาก https://dld.go.th/th/index.php/en/newsflash/banner-news/37-news/leader-news-2560/22282-head-25630710-3
  • บ้านและสวน. 3 เกร็ดข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับสุนัขเร่ร่อน. จาก https://www.baanlaesuan.com/234878/pets/lifestyle-pets/laws-about-street-dog
  • วิริยะประกันภัย. ขับรถชนสุนัข ใครผิด ประกันภัยช่วยอะไรได้บ้าง ?. จาก https://www.viriyah.com/article/detail/4-ขับรถชนสุนัข-ใครผิด-ประกันภัยช่วยอะไรได้บ้าง
  • Tero Entertainment. ไขข้องใจ! หมาจรจัดกัด คน-ทรัพย์สินเสียหาย ใครต้องรับผิดชอบ?. จาก https://teroasia.com/news/225605
  • เกรียงสิทธิ์ จันทร์ทา รองประธานของมูลนิธิ ดิ อาร์ค ในพระราชูปถัมภ์ (The ARK Foundation) : สัมภาษณ์

.

.

เรื่อง : เมขลา พนรัญชน์

ภาพ : Envato

บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Recent Posts
Newsletter
Lorem ipsum dolor sit amet conse ctetur adipisicing elit, sed do eiusmod.