สุขภาพและความแข็งแรงของร่างกายคนเราก็มักจะเดินสวนทางกับขวบปีของชีวิต ยิ่งอายุมากขึ้น การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายก็เสื่อมสภาพลงไปเรื่อย ๆ จากอดีตที่เคยวิ่งไกลหลายกิโลเมตรก็แทบจะไม่รู้สึกอะไร แต่ปัจจุบันแค่ขึ้นบันไดสองชั้นก็อาจจะเหนื่อยหอบแล้ว
.
แน่นอนว่าคงไม่มีมนุษย์คนไหนชอบร่างกายที่อ่อนแอลงเรื่อย ๆ แบบนี้ หลายคนจึงพยายามสรรหาวิธีการที่จะทำให้ตัวเองแข็งแรงและชะลอการเสื่อมถอยของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายอย่างจริงจัง หันมาใส่ใจดูแลตัวเองมากขึ้น ไปจนถึงทานอาหารเสริมเพื่อบำรุง แต่บางคนดูเหมือนจะไม่ได้กังวลใจเรื่องสุขภาพ ยังคงใช้ชีวิตอย่างโลดโผน เมื่อร่างกายเสื่อมสภาพลงก็คิดว่าเป็นเพียงเพราะอายุที่มากขึ้นเท่านั้น
.
บางคนอาจจะบอกว่าปัญหาสุขภาพหรือโรคภัยต่าง ๆ ส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรม แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว หลาย ๆ ปัญหามีที่มาจากการใช้ชีวิตของคนเรานั่นเอง เพียงแต่เราอาจไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ ยังคงคิดไปเองว่าตัวเรายังแข็งแรงดี ยังไม่แก่ ยังไม่น่าจะมีโรคภัยไข้เจ็บอะไรมาเบียดเบียน
.
เหตุการณ์ที่ผู้เขียนได้เจอกับตัวเอง คือการที่ อาจารย์เอกสิทธิ์ คธาพันธ์ เล่าให้นักศึกษาฟังในคาบเรียนภาษาอังกฤษวันหนึ่งว่า “อาจารย์ถูกวินิจฉัยว่าเป็นเนื้องอกในสมอง แถมสมองไม่สั่งงานไตด้วย ไตก็เลยไม่ทำงาน ทำให้อาจารย์ต้องเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ หมอบอกว่าอาจารย์จะมีอายุถึงเเค่ 50 ปี เเต่ถ้าดูเเลสุขภาพดี ๆ ก็อาจจะอยู่ได้ถึง 55 ปี”
.
คำกล่าวของอาจารย์ทำให้นักศึกษาในห้องต่างมองหน้ากันด้วยความตกใจ เพราะคิดไม่ถึงว่าอาจารย์ที่ดูเป็นคนที่สุขภาพเเข็งแรง แท้จริงแล้วกำลังเผชิญหน้ากับโรคร้ายแรงเช่นนี้
.
เรื่องดังกล่าวทำให้ผู้เขียนตระหนักว่า ร่างกายของคนเราก็เป็นเหมือนเครื่องจักรที่ซื้อมาใช้งาน แรก ๆ เครื่องจักรนั้นทำงานได้ดีไม่มีปัญหา แต่เมื่อนานวันไป ถ้าทำงานหักโหมและไม่มีการหมั่นตรวจเช็คสภาพ ของมันก็ย่อมเสื่อมลงเป็นธรรมดา
.
เครื่องจักรพังยังมีอะไหล่ให้เปลี่ยน แต่หากเป็นอวัยวะภายในของคนเราล่ะ ? จะเปลี่ยนได้ไหมถ้าเราใช้งานมันหนักเกินไป บางอย่างอาจจะเปลี่ยนได้ แต่ราคาที่ต้องจ่ายก็แสนจะแพง อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเป็นหน่วยที่ทำงานให้กับร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นของที่มาคู่กับร่างกายของเราและได้มาตรฐานที่สุด แต่ถ้าวันหนึ่งของเหล่านี้ใช้การไม่ได้ แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป ?
.
ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเปลี่ยนอวัยวะหรือใช้อวัยวะเทียมอยู่เป็นจำนวนมาก บางรายมีโอกาสได้เปลี่ยน และสามารถยืดอายุการใช้งานของร่างกายออกไปได้อีกหลายปี แต่บางคนก็ต้องอยู่กับภาวะความพิการ หนักกว่านั้นก็คือต้องจากไปในเร็ววัน เพราะหาอวัยวะมาแทนไม่ได้หรืออวัยวะเทียมมีราคาสูงเกินเอื้อม หรือบางครั้งก็เกิดจากความไม่พร้อมของร่างกายที่จะรับการรักษา อย่างเช่น คุณย่าจำเนียร สุนันท์เสวก ของผู้เขียน ที่ไม่สามารถเปลี่ยนไตใหม่ได้เพราะร่างกายที่อ่อนแอเกินไป ทำให้ไม่สามาถทำการรักษาและต้องนอนรอวันหมดลมหายใจ ถึงจะมีทุนทรัพย์แต่ก็ไม่สามารถยื้อชีวิตคุณย่าเอาไว้ได้
.
สุขภาพร่างกายเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม และหากเป็นไปได้ก็อย่าให้ไปถึงจุดที่ต้องหาอะไรมาเปลี่ยนของเดิมที่มีอยู่ แต่ในเมื่อเราไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้ว่าร่างกายของเราจะชำรุดวันไหน สิ่งที่ควรรู้ก็คือ หากไปถึงวันที่จำเป็นต้อง ‘เปลี่ยน’ อะไรสักอย่างในร่างกายเพื่อให้สุขภาพของเรายังคงพร้อมที่จะใช้ชีวิตต่อไป สิ่งเหล่านี้มี ‘ราคา’ ที่ต้องจ่าย ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ทรัพย์สินเงินทองเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อการที่เราจะได้เปลี่ยนอะไหล่ในตัวเราหรือไม่ด้วย
.
ตัวอย่างแรกที่จะกล่าวถึงก็คือ ‘การเปลี่ยนไต’ ด้วยพฤติกรรมการกินอาหารในยุคปัจจุบัน ส่งผลให้คนจำนวนมากเป็นโรคไต และทำให้ไตกลายเป็นอะไหล่ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ โดยการปลูกถ่ายไตใหม่ให้กับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ผู้รับการปลูกถ่ายสามารถรับไตจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิต เช่น พ่อ แม่ หรือญาติพี่น้องที่มีความสัมพันธ์กันทางสายโลหิต หรือจากผู้บริจาคที่สมองตาย และมีค่าใช้จ่ายในการปลูกถ่ายไตอยู่ที่ราว 200,000 – 250,000 บาท หากเป็นโรงพยาบาลของรัฐ
.
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าผู้ป่วยทุกคนจะสามารถเปลี่ยนไตได้ เพราะความเสี่ยงหลังจากการผ่าตัดเปลี่ยนไตมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในร่างกาย เนื่องจากผู้ป่วยต้องกินยากดภูมิคุ้มกันซึ่งมีผลทำให้ภูมิต้านทานในร่างกายลดลง มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ความเสี่ยงในการผ่าตัดปลูกถ่ายไตจะเหมือนกับการผ่าตัดที่ใช้ยาดมสลบทั่วไป คือ มีเสมหะมากหลังจากการผ่าตัดในช่วง 1 – 2 วันแรก เนื่องจากปอดแฟบจากบริเวณแผลผ่าตัด และเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ หรือติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด
.
นอกจากนี้การผ่าตัดเปลี่ยนไตยังมีข้อจำกัดสำหรับผู้ป่วยบางกลุ่ม ได้แก่ ผู้ที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคร่วมอื่น ๆ ที่ประเมินแล้วมีอัตราเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด ผู้ที่เป็นมะเร็งระยะลุกลามหรือมีแนวโน้มจะมีการแพร่กระจายของมะเร็งมากขึ้น เป็นต้น
.
และต่อให้ทำการผ่าตัดเปลี่ยนไตสำเร็จไปแล้ว ผู้ป่วยก็ยังจำเป็นจะต้องมารับการรักษาและติดตามผลอย่างต่อเนื่องหลังการผ่าตัด โดยผู้ป่วยจะต้องกินยากดภูมิไปตลอดชีวิต รรวมถึงต้องเฝ้าระวังและตรวจดูการทำงานของไตใหม่ว่ามีการตอต้านกันของเนื้อเยื่อหรือไม่ ตลอดจนเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
.
การผ่าตัดเปลี่ยนไตอาจจะดูเป็นเรื่องใหญ่โตและยุ่งยากมาก ๆ ถ้าอย่างนั้นเราลองมาดูการเปลี่ยนอะไหล่อีกแบบที่มีคนเปลี่ยนกันมากมายในปัจจุบัน นั่นคือ ‘การเปลี่ยนข้อเทียม’ เมื่อผิวของข้อเข่าได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากการอักเสบของข้อเข่าหรือจากอุบัติเหตุ การรักษาอาจเริ่มจากเปลี่ยนวิธีการใช้งานของเข่า ใช้ยาลดการอักเสบ หรือการใช้ไม้เท้าช่วยพยุงเดิน
.
แต่ถ้าการรักษาด้วยวิธีเหล่านี้ไม่ได้ผล การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม (Joint Replacement Surgery) เป็นอีกทางเลือกในการรักษาสำหรับผู้ที่มีอาการหรือความผิดปกติของข้อสะโพก ข้อเข่า หรือขาส่วนล่าง โดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม สามารถลดอาการปวด แก้ไขความพิการหรือผิดรูปของข้อเข่า และป้องกันการเสื่อมของข้ออื่น ๆ ตามมา
.
สำหรับราคาของข้อเทียม เริ่มต้นที่ 250,000 – 500,000 บาท ซึ่งมากกว่า 90% ของผู้ป่วยที่รักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมจะรู้สึกเจ็บปวดลดลง และสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติ แต่ก็มีบางกิจกรรมที่ผู้ป่วยควรเลี่ยงหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม โดยควรปรึกษาแพทย์เพื่อการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมและไม่ส่งผลกระทบกับร่างกาย
.
ทั้งนี้สิ่งที่ต้องระวังหลังการผ่าตัดคือภาวะแทรกซ้อน ได้แก่การติดเชื้อ ซึ่งปกติจะเกิดค่อนข้างต่ำมาก คือประมาณไม่ถึง 2% และภาวะแทรกซ้อนด้านหัวใจ เนื่องจากมีการเสียเลือดและให้เลือดจำนวนมาก หัวใจจึงทำงานหนักจนอาจเกิดภาวะหัวใจวายได้ และอีกหนึ่งภาวะคือภาวะเส้นเลือดดำอุดตัน จากการที่ลิ่มเลือดหลุดไปติดที่กล้ามเนื้อหัวใจและปอด ซึ่งอาจทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว แต่กรณีนี้สามารถป้องกันได้โดยการขยับขาทั้ง 2 ข้าง จะทำให้การไหลของเลือดดีขึ้นและลดการอุดตันได้
.
การเปลี่ยนไตหรือเปลี่ยนข้อเทียม เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนอวัยวะที่เรามักจะได้ยินกันบ่อย ๆ ซึ่งในปัจจุบันยังมีอวัยวะเทียมอีกหลายอย่างที่สามารถนำมาผ่าตัดปรับเปลี่ยนเป็นอะไหล่ใส่ในร่างกายมนุษย์ได้ แต่การใช้อวัยวะของแท้ที่มากับร่างกายโดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนก็ยังคงเป็นเรื่องที่ดีกว่า อย่าลืมว่าการสูญเสียหรือโรคภัยไข้เจ็บไม่ได้เลือกเกิดกับมนุษย์คนใดคนหนึ่ง เราจึงต้องหันมาตรวจสอบความแข็งแรงอะไหล่แท้ของตัวเองอยู่เสมอ
.
ผู้เขียนเชื่อว่าคนเราไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ก็คงไม่มีใครอยากมีสุขภาพที่ไม่ดี เพราะร่างกายที่แย่นำมาสู่สภาพจิตใจที่ย่ำแย่เช่นเดียวกัน อย่าลืมว่าเมื่อเราป่วย ไม่ใช่แค่เราเท่านั้นที่ป่วย แต่ผลกระทบต่อคนที่เกี่ยวข้องและค่าใช้จ่ายมากมายที่ต้องใช้ในการรักษาตัวจะตามมา หากเรามีทุนทรัพย์มากพอที่จะเป็นค่ารักษาให้กับตัวเราได้ก็ดีไป แต่ถ้าเราไม่มี ความเดือดร้อนอีกมากมายจะตามมา ยังไม่รวมถึงการเสียโอกาสที่เราจะได้ใช้ชีวิตอย่างสดใสปราศจากโรคภัย แทนที่จะได้ออกไปค้นหาสิ่งต่าง ๆ อีกมากมายที่มีความหมายกับชีวิต แต่กลับต้องทนทุกข์กับความป่วยไข้ที่บั่นทอนร่างกายและจิตใจ
.
เราอาจเลือกไม่ได้ว่าจะพบกับความเจ็บป่วยของร่างกายหรือจิตใจเมื่อใด แต่เราสามารถปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตเพื่อรักษาอะไหล่แท้ของเราให้มีสถภาพดี ดีและอยู่กับเราให้ยาวนานที่สุดได้
.
.
เรื่อง : ชลธิฌา สุนันท์เสวก
ภาพ : Envato
บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่