คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

‘สิ่งศักดิ์สิทธิ์’ กับบทบาทการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ยามที่คนเราต้องเผชิญกับปัญหาอันเกิดจากความไม่แน่นอนของการมีชีวิต โดยเฉพาะเมื่อเงินอันเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีพนั้นหายากขึ้นทุกวัน ไหนจะผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ความทุกข์ ความเหนื่อยล้าจากสารพัดปัญหา ต่อให้ใจสู้แค่ไหนก็คงต้องมีวันที่รู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจกันได้ทุกคน

.

ลำพังมนุษย์ธรรมดาอย่างเรา เมื่อรู้สึกว่าไม่สามารถจะจัดการปัญหาเองได้ง่าย ๆ จึงเกิดความต้องการหาที่พึ่งทางใจ และหนึ่งในวิธีการหาที่พึ่งที่มักจะมีให้เห็นในสังคมไทยอยู่แทบทุกวัน นั่นคือการหันไปพึ่ง ‘สิ่ง ศักดิ์สิทธิ์’ ที่เชื่อว่ามีพลังเหนือธรรมชาติ แม้จะไม่มีผลลัพธ์ให้เห็นอย่างชัดเจน แต่ก็ช่วยเติมพลังใจ คลาย ความท้อแท้ ช่วยให้พอจะมีแรงสู้กับปัญหาชีวิตต่อไปได้

.

นอกจากการเสริมสร้างกำลังใจให้กับคนที่ต้องการที่พึ่งแล้ว ความเชื่อความศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของผู้คนยังส่งอิทธิพลไปสู่เรื่องอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการมีบทบาทกำหนดพฤติกรรมของผู้คนในสังคม การพัฒนาไปสู่ธรรมเนียมประเพณีที่ผู้คนยึดถือปฏิบัติ และอีกสิ่งหนึ่งที่กลายเป็นเรื่องคุ้นชินของคนในสังคมไปแล้ว นั่นคือมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ ทั้งต่อผู้คน ชุมชนและสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง

.

ผี = อำนาจ

.

ความเชื่อว่าด้วยเรื่องลี้ลับ เรื่องเหนือธรรมชาติ วนเวียนอยู่ในสังคมมนุษย์มาตั้งแต่อดีตกาล โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องผี ที่เป็นความเชื่อดั้งเดิมและทรงอิทธิพลต่อความคิดของมนุษย์ เพราะก่อนที่จะมีวิทยาศาสตร์ เรื่องของผีคือตัวเอกสำคัญที่ช่วยอธิบายปริศนาที่มาที่ไปของปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะฝนตก ฟ้าร้อง ลมพายุฝนฟ้าคะนอง แผ่นดินไหว ว่าเป็นอำนาจของสิ่งที่มองไม่เห็นบันดาลให้เกิดขึ้น

.

นอกจากนี้ยังรวมถึงการเกิด แก่ เจ็บ ตายที่เกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิต ซึ่งก็ถูกอธิบายว่าเป็นอำนาจของผีด้วยเช่นเดียวกัน ผลที่ตามมาจึงเกิดเป็นความเกรงกลัวต่ออำนาจของผี อันเป็นมูลเหตุให้มนุษย์แสดงออกในลักษณะต่าง ๆ เพื่อเป็นการบวงสรวงและอ้อนวอนให้อำนาจเหล่านั้นคุ้มครองช่วยเหลือ ให้ตนเองรอดพ้นจากภัยพิบัติต่าง ๆ และประสบความสุข ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าผีมีความเชื่อมโยงกับอำนาจตามความเชื่อของมนุษย์ และอำนาจดังกล่าวคือสิ่งที่ควบคุมหรือกำหนดให้มนุษย์ทำสิ่งต่าง ๆ ที่แสดงออกถึงการยอมรับในอำนาจนั้นนั่นเอง

.

อานันท์ นาคคง ผู้ศึกษาด้านมานุษยวิทยาดนตรีชาติพันธุ์ ได้กล่าวในการเสวนา ‘พลังสตรี ผี เฮี้ยน’ จัดโดย Thai PBS ว่า “เราศรัทธา เรานับถือ เรายำเกรง เรากลัว อำนาจมีบทบาทในการควบคุมความคิดและ พฤติกรรมผู้คน อำนาจมีบทบาทในการกำหนดวิถีชีวิตและประเพณี ผีถูกเอามาใช้ในเรื่องของการสร้างอำนาจ การแสดงอำนาจ ส่วนอำนวยนั้นเป็นเรื่องการติดสินบนผี เราอยากได้อะไรเราก็วิงวอนขอร้องผี เราอยากได้อะไรเราก็เอาอกเอาใจผี และก็เป็นเพื่อนกับผี”

.

จากคำกล่าวเหล่านี้ จะเห็นว่าผีมีบทบาททั้งในเรื่องของอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ไปพร้อม ๆ กัน พื้นฐานนี้จึงนำมาสู่บริบทของ ‘ผี’ ในฐานะเครื่องมือบางอย่างเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับมนุษย์

.

‘ผี’ กับอิทธิพลต่อสังคม

.

บทบาทหนึ่งที่ความเชื่อเรื่องผีถูกนำมาใช้ประโยชน์จากความกลัวต่ออำนาจ ได้แก่การทำหน้าที่กำกับพฤติกรรมของคนในสังคม ลองนึกถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับผี ไม่ว่าจะมาจากการเล่าปากต่อปากหรือรับชมรับฟังผ่านช่องทางอื่น เรื่องเล่าเหล่านี้มักจะจบด้วยคติสอนใจบางอย่าง ว่าอย่าทำอย่างนั้นอย่าทำอย่างนี้ เพราะถ้าหากทำลงไป คนคนนั้นก็จะเจอกับเรื่องแย่ๆ ในชีวิต

.

กุศโลบายที่แทรกไว้ในเรื่องเล่ามักเป็นการห้ามไม่ให้กระทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่ควร ด้วยเหตุนี้ผีจึงมีบทบาทในการทำหน้าที่สร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นในสังคม ผ่านการกำกับพฤติกรรมของมนุษย์ ให้หลีกเลี่ยงการกระทำที่ไม่เหมาะสม เพราะจะทำให้ผีเกิดความไม่พอใจจากการละเมิดศีลธรรมอันดีของสังคม

.

การเข้าสู่กระบวนการทางพิธีกรรมเพื่อพึ่งอำนาจเหนือธรรมชาติ หากพิจารณาจากพฤติกรรมมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการนับถืออำนาจลี้ลับ ถือเป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีสิ่งแลกเปลี่ยน แม้ในบางทีการขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะเป็นการขอที่ไม่ได้ระบุถึงการติดค้าง แต่เมื่อสิ่งที่ขอนั้นสัมฤทธิ์ผล คนก็มักจะกลับมาตอบแทนเสมอ ยิ่งถ้าเป็นการบนบานที่ให้คำมั่นว่าจะให้สิ่งตอบแทนยิ่งแล้วใหญ่

.

ดังนั้นการจะทำให้สัญญาในใจของคนเหล่านี้สิ้นสุดได้ จึงต้องจบด้วยการตอบแทน ถ้าไม่ใช่การตอบแทนโดยการประพฤติปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดตามศีลธรรม การให้สิ่งตอบแทนเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่นิยมทำโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม ในยุคที่มนุษย์ต้องขับเคลื่อนชีวิตด้วยเงินเป็นปัจจัยหลัก การกระทำต่าง ๆ ของมนุษย์มักมีเรื่องของเงินเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ

.

การหันหน้าเข้าพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้ชีวิตรอดพ้นจากความทุกข์ก็เช่นกัน ดังนั้นเงินจึงถูกใช้เป็นสิ่งตอบแทนคำขอที่ได้ร้องขอจากอำนาจเหนือธรรมชาติหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเงินให้กับสถานที่ หรือนำเงินไปแลกเปลี่ยนเป็นวัตถุต่าง ๆ เพื่อนำมาสักการะบวงสรวงหรือการแก้บน ซึ่งล้วนต้องผ่านวิธีการซื้อขาย โดยมีร้านค้าที่อยู่รอบบริเวณสถานที่ที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นรอพร้อมให้บริการ

.

‘สิ่งศักดิ์สิทธิ์’ สร้าง ‘เศรษฐกิจ’

.

ถ้าจะลองยกตัวอย่างการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทยที่ได้รับความนิยมจนกลายเป็นปรากฏการณ์ และหลาย ๆ คนน่าจะรู้จัก คือกระแสของ ‘ไอ้ไข่’ ณ วัดเจดีย์ จังหวัดนครศรธรรมราช ที่เมื่อกระแสความเชื่อความศรัทธาแพร่ขยายออกไปในวงกว้าง ก็ทำให้มีผู้คนเดินทางตามแรงศรัทธามาถึงที่วัดเป็นจำนวนมาก จนเกินกว่าความสามารถในการรองรับของวัดเจดีย์และชุมชนโดยรอบ

.

กรณีดังกล่าวทำให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวัดที่มีกำลังด้านปัจจัยพอที่จะปรับปรุงสถานที่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้คน เช่น การขยายพื้นที่วัดให้สามารถรองรับยานพาหนะของผู้เดินทางสัญจรมา การปรับปรุงทัศนียภาพภายในวัดให้สวยงาม รวมถึงพื้นที่บริการที่จำเป็น เช่น สุขา

.

นอกจากนั้นแล้วชุมชนโดยรอบก็สามารถหารายได้จากการแวะเวียนเข้ามาของผู้มีจิตศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าขายของเพื่ออุปโภคและบริโภค หรือร้านขายดอกไม้ ที่เป็นหนึ่งสิ่งสำคัญสำหรับการใช้เป็นเครื่องสักการะ

.

อีกหนึ่งข้อมูลที่สะท้อนความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเศรษฐกิจ คือผลการสํารวจพฤติกรรมของผู้บริโภคเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 ที่พบว่าวัตถุประสงค์ 3 อันดับแรกในการทำบุญไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในชีวิต ขอโชคลาภเงินทอง และขอเรื่องการงานธุรกิจ

.

จะเห็นได้ว่าเรื่องขวัญกำลังใจ รายได้ และการงาน เป็นวัตถุประสงค์หลักของการทำบุญไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

.

การสำรวจดังกล่าวยังให้ข้อมูลด้วยว่า การเดินทางไปทำบุญของประชาชน สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในระดับที่ค่อนข้างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ และมีโอกาสต่อยอดควบคู่ไปกับภาคบริการการท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากจะมีมูลค่าโดยรวมแล้ว ยังสามารถช่วยให้เกิดการกระจายรายได้เชิงพื้นที่ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากศาสนสถานและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของไทยมีกระจายอยู่ทั่วทุกจังหวัด ดังนั้นการประชาสัมพันธ์และการเก็บข้อมูลที่แม่นยำและต่อเนื่อง รวมทั้งการดูแลสถานที่เหล่านี้ให้คงสภาพดีและมีความสอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว จะสามารถสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยว และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจในสาขานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

.

พัฒนาชุมชนรองรับ ‘สิ่งศักดิ์สิทธิ์’

.

จากข้อมูลที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นผลของความเชื่อถือศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยนำเม็ดเงินเข้ามาสู่ชุมชนที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังเห็นถึงโอกาสที่ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงกับศาสนสถานหรือสถานที่ศักดิสิทธิ์จะได้เตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อให้สามารถรองรับผู้คนที่จะเข้ามาในพื้นที่ และสร้างรายได้ต่อคนในชุมชนไปพร้อมๆ กัน

.

เมื่อนึกถึงจังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในสถานที่ที่พอจะยกเป็นตัวอย่างของการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนเพื่อรองรับความเชื่อความศรัทธาของผู้คนได้ ก็คือ ‘อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย’ ซึ่งเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คสำคัญในตัวเมืองเชียงใหม่ที่ผู้คนรู้จักกันเป็นอย่างดี และมีผู้คนที่เลื่อมใสศรัทธาเดินทางมาสักการะบูชากันอย่างมากมายในแต่ละวัน

.

ในปัจจุบันคนที่ไปเยือนย่อมเห็นถึงความเจริญของสถานที่และบริเวณโดยรอบอยู่แล้ว แต่กว่าจะมีสภาพที่สวยงามเช่นนี้ คนในชุมชนก็ต้องมาพูดคุยและร่วมมือร่วมใจกันปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ให้เป็นระเบียบ และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ระหว่างคนในชุมชนด้วยกันเอง

.

จรัญ คําซอน อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 บ้านห้วยแก้ว ชุมชนบริเวณอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้เล่าให้ฟังว่า ก่อนจะมาเป็นอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยอย่างที่เห็นในปัจจุบัน พื้นที่นี้เคยถูกสร้างและผ่านการทิ้งให้รกร้างมาก่อน

.

“ตอนที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน ด้วยความที่บ้านลุงอยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์ ลุงเห็นผู้คนมาสักการะครูบาเจ้าศรีวิชัยอย่างต่อเนื่อง แต่ว่าก็เห็นพ่อค้าแม่ค้าขายดอกไม้ตั้งจุดขายไม่เป็นที่เป็นทาง ลุงเลยประสานกับทางการเพื่อทำการจัดระเบียบสถานที่ ทั้งการบูรณะพื้นที่รอบอนุสาวรีย์ ติดตั้งไฟฟ้าให้ความสว่างเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของผู้คนที่มาที่นี่ แล้วก็จัดการเรื่องที่ตั้งร้านค้าโดยเฉพาะร้านดอกไม้”

.

ลุงจรัญเล่าต่อไปว่า เมื่อมีการจัดระเบียบสถานที่และปรับปรุงสิ่งต่างๆ นอกจากจะได้ความเป็นระเบียบสวยงามแล้ว ยังช่วยให้คนในชุมชนมีรายได้และไม่มีปัญหาเรื่องการแย่งกันขายของด้วย “วันนี้คนขายดอกไม้ที่นี่รวมตัวกันเป็นชมรมกลุ่มอาชีพร้านค้าดอกไม้ครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่ไม่ใช่แค่ให้อาชีพกับครัวใดครัวเรือนหนึ่ง แต่ว่ามีการจัดแบ่งเวลาขาย ผลัดเปลี่ยนกันหนึ่งกะต่อหนึ่งครัวเรือน ตอนนี้ก็มีประมาณ 30 – 40 ครัวเรือนเลยที่ผลัดเปลี่ยนกันขายที่ร้านดอกไม้ เพื่อเป็นการกระจายรายได้ แล้วก็มีการจัดคิวรถแดงสำหรับเดินทางขึ้นไปสักการะพระธาตุดอยสุเทพด้วย”

.

จากคําบอกเล่าของลุงจรัญ แสดงให้เห็นว่าการเดินทางตามแรงศรัทธามาถึงสถานที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของผู้คนจากที่ต่าง ๆ อีกนัยหนึ่งคือการเคลื่อนที่ของเงินเข้าสู่ระบบเศรฐกิจของชุมชนและพื้นที่นั้น ๆ การพัฒนาเชิง พื้นที่เพื่อสร้างความพร้อมและอํานวยความสะดวกในการเข้าสู่พิธีกรรมจึงเกิดขึ้น เป็นอีกหนึ่งบทบาทของความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อาจมองไม่เห็นด้วยตา แต่ว่ามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และนำรายได้มาสู่ชุมชนและผู้คนในแบบที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน

.

และที่สำคัญ เหตุการณ์เช่นที่ว่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยหรือที่วัดเจดีย์ แต่เกิดขึ้นได้ทุกแห่ง ที่มีผู้คน สิ่งของ หรือสิ่งก่อสร้างที่ผู้คนเชื่อถือศรัทธา รวมทั้งเรื่องราวเช่นนี้จะยังคงเกิดขึ้นเสมอ ตราบเท่าที่มนุษย์ยังคงต้องการ ‘ที่พึ่ง’ ที่พวกเขาเชื่อว่ามีพลังอำนาจช่วยดลบันดาลให้ตนเองผ่านพ้นปัญหา หรือพบเจอกับสิ่งดี ๆ ในชีวิตได้

.

ข้อมูลอ้างอิง

  • Thai PBS. ล้อมวงเสวนา “พลังสตรี ผี เฮี้ยน” จาก https://www.facebook.com/ThaiPBS/videos/187468132707976/
  • อริญชัย วีรดุษฎีนนท์. ความเชื่อและความศรัทธา ที่พึ่งยามชีวิตเปราะบาง. จาก https://www.gqthailand.com/gq-hype/article/gq-hype-vol-64
  • สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์. ผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์. จาก http://www.tpso.moc.go.th/th/node/10875
  • จรัญ คำซอน อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 บ้านห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ : สัมภาษณ์

.

.

เรื่อง : วิทยธรรม ธีรศานติธรรม

ภาพ : สำนักข่าวอ่างแก้ว

บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Newsletter
Lorem ipsum dolor sit amet conse ctetur adipisicing elit, sed do eiusmod.