คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สืบชะตา : พิธีปัดเป่าความชั่วร้าย หรือเพียงความสบายใจที่มนุษย์ปรารถนา

เวลาที่คนเราประสบปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตจนทำให้รู้สึกเป็นทุกข์ ไม่สบายกายสบายใจ แน่นอนว่าการจะแก้ปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้น ย่อมเริ่มจากการหาที่มาของปัญหาให้เจอแล้วพยายามหาทางแก้ไข แต่บางครั้งการ ‘หาที่พึ่ง’ ไม่ว่าจะทางใดก็ก็ตาม ก็เปฌนอีกวิธีที่ผู้คนเลือกใช้เพื่อบรรเทาความทุกข์และสร้างความหวังให้กับทั้งตนเองและบุคคลรอบข้าง

.

ในโลกใบนี้เต็มไปด้วยผู้คนมากมาย หลากหลายความคิด หลากหลายความเชื่อและความศรัทธา ส่งผลให้ความเชื่อความศรัทธากลายเป็นหนึ่งในที่พึ่งที่คนเราเลือกหันหน้าเข้าหายามเกิดปัญหา เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจที่ช่วยให้เราผ่านพ้นความทุกข์และมีชีวิตต่อไปในวันข้างหน้า บางคนก็อ้างว่าตนเองเป็นผู้วิเศษมีพลังที่สามารถช่วยบรรเทาปัดเป่าเรื่องร้ายให้กับผู้อื่นได้ บางคนคิดว่าการพึ่งพาสิ่งอื่นใดที่นอกเหนือจากตนเองนั้นเป็นเรื่องที่งมงาย และมีอีกหลายคนที่เห็นว่าหากจะเชื่อจะนับถือสิ่งใดก็ย่อมได้ เพียงแค่อย่าทําให้ตัวเองและผู้อื่นเดือดร้อนเท่านั้น

.

ว่าแต่พิธีกรรมจะช่วยปัดเป่าสิ่งไม่ดีได้จริงหรือ ? หรือนี่เป็นเพียงความสบายใจที่มนุษย์ปรารถนา ?

.

พิธีกรรมเพื่อต่ออายุให้ยืนยาว

.

‘พิธีสืบชะตา’ เป็นพิธีกรรมตามความเชื่อของชาวล้านนามาตั้งแต่อดีต มีเป้าหมายเพื่อต่ออายุ ปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีออกจากชีวิต และปลุกขวัญกําลังใจแก่ผู้เข้าร่วมพิธี

.

ตํานานที่มาของความเชื่อเรื่องการสืบชะตา ปรากฏในคัมภีร์สืบชะตาที่กล่าวถึงพระสารีบุตรเถระ อัครสาวกของพระพุทธเจ้า พระสารีบุตรมีสามเณรองค์หนึ่งที่มาบวชเรียนกับท่าน ชื่อติสสะ ต่อมาเมื่อพระสารีบุตรสังเกตตามตําราหมอดูและตําราดูลักษณะ พบว่าสามเณรติสสะจะมีชีวิตอยู่ได้อีกเพียง 7 วันเท่านั้น จึงเรียกสามเณรติสสะมาบอกความจริง และบอกให้กลับไปร่ำลาพ่อแม่และญาติพี่น้องเสีย

.

ระหว่างเดินทางกลับ สามเณรติสสะที่กำลังเศร้าโศกได้พบปลาน้อยใหญ่ในสระที่น้ำกําลังแห้งขอด สามเณรจึงช้อนปลาทั้งหมดใส่บาตรของตนแล้วนําไปปล่อยในแม่น้ำใหญ่ จากนั้นระหว่างทางได้เจอเก้งที่ติดกับดักของนายพราน สามเณรจึงปล่อยเก้งให้เป็นอิสระ จนเมื่อเดินทางถึงบ้านแล้ว สามเณรติสสะจึงได้บอกกับพ่อแม่ว่าตนกำลังจะตายในอีก 7 วัน

.

แต่เมื่อล่วงเลยไป 7 วันแล้ว ปรากฎว่าสามเณรติสสะยังไม่ตาย พ่อจึงให้กลับไปหาพระสารีบุตร ซึ่งท่านประหลาดใจมากจนถึงกับจะเผาตําราทิ้ง สามเณรจึงกราบเรียนเรื่องการที่ได้ปล่อยสัตว์ทั้งปลาและเก้ง ซึ่งการกระทำเพื่อยืดชีวิตสัตว์เหล่านั้นเป็นบุญกรรมที่ช่วยให้พ้นจากความตายได้ และจากตํานานนี้เอง ที่ทำให้คนล้านนานิยมการสืบชะตา

.

ขณะที่ในบทความเรื่อง ‘พิธีสืบชะตากรรม การพัฒนาสถาบันสู่การเรียนรู้’ ของ ธัญลักษณ์ โพธิกุล สถาบัน ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยรามคําแหง กล่าวว่า การสืบชะตาเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของชาวล้านนา เชื่อกันว่าเป็นการต่ออายุของบ้านเมืองหรือของคน ให้ชีวิตกลับจากร้ายกลายเป็นดี เป็นพิธีกรรมที่ว่าด้วยการสืบต่ออายุ และเสริมสร้างความสุข ความเจริญ และสิริมงคลให้เกิดขึ้นแก่เจ้าของชะตา ตลอดจนขจัดภัยอันตรายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นให้แคล้วคลาดปลอดภัย ดังนั้นคําว่า ‘สืบชะตา’ จึงหมายถึงการต่ออายุ การสืบชีวิตให้ยืนยาวขึ้น

.

พิธีกรรมเพื่อความสบายใจ

.

“ผมบวชเป็นสามเณรก่อนมาเป็นอาจารย์ มีภาพจำเกี่ยวกับพิธีกรรมมากกว่าคนอื่น เป็นทั้งผู้สืบชะตา และผู้ทำพิธีสืบชะตาให้คนอื่นด้วย ในส่วนของพระคือไปทำพิธี เป็นคนสวดสืบชะตาให้ ข้อมูลก็อาจจะมีมากกว่าคนอื่น ส่วนพิธีสืบชะตานั้น มีความเกี่ยวข้องและรู้จักตั้งแต่เด็ก เพราะมันก็อยู่ในสังคมไทยมานาน” ณัฐวุฒิ สารีอินทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มต้นการกล่าวถึงการสืบชะตาในมุมมองของเขา ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่มีใจรักในศาสนาพุทธ

.

“ผมเชื่อว่าพิธีสืบชะตา ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่งถูกใช้เพื่อเพิ่มประมาณฮอร์โมนเอ็นโดรฟิน ทำให้เรารู้สึกฟินเวลาเราอยู่ในพิธีกรรมสืบชะตา เมื่อฮอร์โมนนี้มีมากเราก็มีความสุข มีความสบายใจ มันจะเชื่อมโยงกัน ตอนที่เราสบายใจ สมมติเราทำแบบสอบถาม กรอกคะแนนความสบายใจ เราสามารถวัดได้ แต่จริง ๆ แล้วเบื้องหลังความสบายใจ เบื้องหลังทางวิทยาศาสตร์ก็มีอยู่ ตอนที่เราเครียดมันก็จะมีฮอร์โมนบางอย่างที่ทำให้เราเครียด การทำพิธีสืบชะตาอาจจะช่วยให้เราเกิดความสบายใจหรือว่ามีความรู้สึกที่ดีขึ้น”

.

อาจารย์ณัฐวุฒิกล่าวต่อไปว่า “การสืบชะตา ผมว่ามันใช้ได้กับทุกเรื่อง การสมัครงาน การสัมภาษณ์ การพูดในที่ชุมชน ทุกอย่าง ถ้าคนนั้นมีจิตวิทยาในการนําเสนอแล้วเนี่ย ก็มักจะประสบความสำเร็จ อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราเลือกจะอธิบายการสืบชะตาในเชิงจิตวิทยา ก็ถือว่าค่อนข้างจะประสบความสำเร็จ เพราะว่าในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง คนส่วนใหญ่เชื่อว่าถ้าจะทำให้ชีวิตเกิดความสบายใจก็ต้องผ่านเกณฑ์นี้เท่านั้น พอได้ทำแล้วจะมีความสุข สบายใจ ชีวิตในสังคมก็ไปต่อได้ เพราะถึงจะสรรเสริญพระเจ้า หาเครื่องราง แต่หลายอย่างมันปลดล็อคทางจิตใจไม่ได้ อย่างเช่นคุณประสบอุบัติเหตุมา ไม่ตายนะ แต่ว่ารู้สึกอกสั่นขวัญแขวน ก็สืบชะตาหน่อยไหม อะไรแบบนี้”

.

เชื่อได้ แต่อย่าหลง

.

ความเชื่อในท้องถิ่นมีรากเหง้าที่คล้ายคลึงกัน แต่ต่างก็ปรับเปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมของแต่ละท้องที่ และมักจะมีความเชื่อมโยงกับศาสนาพุทธ ซึ่ง วันเฉลิม ใจมา ประธานชมรมพุทธศิลปศึกษาและประเพณี สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวว่า “หากศาสนาพุทธยังแข็งกระด้างอยู่กับความเชื่อของตนเองโดยไม่ปรับ จะทำให้ศาสนาพุทธไม่มีจุดยืนในสังคม และในไม่ช้าอาจจะถูกลืมเลือนไปตามการเวลา”

.

วันเฉลิมเห็นว่าการมีพิธีกรรมต่าง ๆ รวมถึงการสืบชะตานั้น สามารถช่วยผู้ที่เข้าร่วมในพิธีกรรมนั้น ๆ ได้ “ช่วยสิ ช่วยผู้เข้าร่วมพิธีได้อย่างแน่นอน เพราะพระพุทธเจ้าบอกว่าคนเราต้องมีศรัทธา คือมีความเลื่อมใส แต่คุณต้องเชื่อด้วยหลักที่มีเหตุผล ตามหลักของศาสนาพุทธของเรา ถ้าคุณเชื่อแบบไม่มีเหตุไม่มีผลก็จะเป็นความหลง”

.

เขากล่าวต่อไปว่า “การที่มีความหลง เพราะมนุษย์เราต่างไม่รู้ว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นอย่างไร ด้วยความที่ชาวบ้านเชื่อว่าพิธีกรรมนี้ เมื่อทําแล้วเกิดความสบายใจ จิตใจเราผ่องใส นี่คือการสัมฤทธิ์ผล คือถ้าเรานั้นมีความเชื่อก็ย่อมสัมฤทธิ์ผลทุกคนอย่างแน่นอน แต่ขอให้เชื่ออย่างมีเหตุผลตามที่พระพุทธเจ้าบอก”

.

ส่วนอาจารย์ณัฐวุฒิให้ความเห็นว่า “พอสืบชะตาแล้วก็เหมือนได้ตอบตัวเองว่า เออ เราก็สืบชะตาแล้วนี่ อันนี้สำหรับคนที่มีความเชื่อนะ แต่สำหรับคนที่ไม่มีความเชื่อ ไม่ได้เชื่อว่าพิธีกรรมนี้จะช่วยได้ ผลก็อาจจะเกิดน้อย เขาอาจจะต้องไปทำอย่างอื่นที่เขาเชื่อว่ามันมีผลมากกว่า”

.

เรา ‘เชื่อ’ ต่างกันได้

.

คนบนโลกมีความคิดมากมายหลายอย่าง แต่ละคนอาจจะมีความคิดหรือความเชื่อที่ต่างกัน แม้แต่ในสิ่งเดียวกันก็ตาม เช่น การดูหนัง บางคนอาจจะคิดว่าเป็นการพักผ่อน แต่กลับกันอีกคนอาจจะมองเป็นการเสียเวลาชีวิต

.

ความเชื่อก็เช่นกัน ถ้าคนที่เชื่อก็จะมองว่าทําแล้วดี ทำแล้วคือความสบายใจ แต่ถ้าคนไม่เชื่อไม่นับถือ อาจจะบอกว่าเป็นเรื่องที่ไร้สาระ เอาเวลาไปทําสิ่งอื่นดีกว่า แต่แน่นอนว่าคนทั้งสองประเภทสามารถอยู่ร่วมกันได้ เพียงแต่ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน และเคารพในความเห็นต่างของอีกฝ่าย

.

พิธีสืบชะตาของล้านนา เป็นการเรียนรู้ระหว่างกันผ่านการให้คุณค่าของสัญลักษณ์นิยม เป็น ปรากฏการณ์ที่มุ่งหวังให้คนที่ทำหายหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วย รวมถึงหลุดพ้นจากสถานการณ์ที่ตนเองไม่พึงประสงค์ อย่างไรก็ตาม พิธีกรรมหรือความเชื่อความศรัทธาต่าง ๆ นั้น เป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่มีผิด ไม่มีถูก และเป็นสิ่งที่สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้

.

“ในฐานะที่เราไม่เชื่ออะไรสักอย่างเลย กับในฐานะของคนที่เขานับถือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ต่างมีความเท่าเทียมกัน แต่สิ่งที่พวกคุณมีร่วมกัน คือท้องถิ่น คุณอย่าลืมว่าสิ่งที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน มันผ่านหลายสิ่งหลายอย่างมามากมาย ทุกวันนี้สรรพวิชาและความรู้ต่าง ๆ เป็นสิ่งที่อดีตคัดสรรมาให้หมดแล้ว ผมคิดว่าพิธีกรรมก็เหมือนกัน คนในอดีตเขาลองผิดลองถูก อันนี้ดีหรือไม่ดียังไง คุณไม่ต้องเชื่อก็ได้ แค่อยากจะให้ช่วยกันรักษาหน่อย ในฐานะที่มันเป็นของเก่าที่คนเขาสืบทอดมา คุณไม่เห็นค่าในวันนี้ วันหน้าคุณอาจจะเห็นค่าของมันก็ได้” วันเฉลิมกล่าวทิ้งท้าย

.

ข้อมูลอ้างอิง

  • วันเฉลิม ใจมา ประธานชมรมพุทธศิลปศึกษาและประเพณี สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : สัมภาษณ์
  • ณัฐวุฒิ สารีอินทร์ อาจารย์ประจําสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซ สัภาษณ์
  • กระทรวงวัฒนธรรม. พิธีสืบชะตา. จาก https://www.m-culture.go.th/th/article_view.php?nid=34298
  • สถาบันศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยรามคำแหง. พิธีสืบชะตา การพัฒนาสถาบันสู่สถาบันการเรียนรู้. จาก http://www.culture.ru.ac.th/document/KM/km2564.pdf
  • ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. พิธีสืบชะตาตามความเชื่อชาวล้านนา. มติชนสุดสัปดาห์. จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_112914

.

.

เรื่อง : ธันยชนก อินทะรังษี

ภาพ : สำนักข่าวอ่างแก้ว

บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Newsletter
Lorem ipsum dolor sit amet conse ctetur adipisicing elit, sed do eiusmod.