คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เปิดโลกธุรกิจ ‘เสื้อผ้ามือสอง’ : เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้สิ่งของให้คุ้มค่า

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เสพสื่อออนไลน์อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะ Instagram Twitter หรือ TikTok จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันผู้คนให้อิสระกับการแต่งตัวมากขึ้น ไม่ว่าใครจะมีรสนิยมหรือความชอบแบบไหน ก็สามารถที่จะสร้างสรรค์สไตล์ของตัวเอง และแสดงออกออกมาได้อย่างสนุกสนานผ่านการแต่งตัว คุณอาจจะเห็นผู้ชายใส่กระโปรงหรือกางเกงขาสั้นเต่อ ผู้หญิงใส่กางเกงยีนส์เอวต่ำเดินขวักไขว่ไปมาตามท้องถนน ก็นับว่าเป็นเรื่องปกติที่พบเจอได้ในโลกของแฟชั่น

.

หรืออย่างแฟชั่นที่พบเห็นได้ตามโซเชียลมีเดีย คือสไตล์การแต่งตัวยุค 80’s และ 90’s ตามซีรีส์เรื่องดังอย่าง Stranger Things ที่กลับมาครองใจวัยรุ่นด้วยเสื้อผ้าที่ฉูดฉาด สดใส เช่นเดียวกับแฟชั่นจากยุค 2000’s ที่กลับมาฮิตสุด ๆ อย่างสไตล์ Y2K ที่หากใครเคยดูภาพยนตร์วัยรุ่นในอดีตที่โด่งดังเป็นพลุแตกอย่าง Mean Girls ก็คงจะเคยเห็นชุดที่สาว ๆ ตัวแม่ในเรื่องอย่าง เรจิน่า จอร์จ สวมใส่เป็นประจำ

.

ท่ามกลางความเจริญของโลกที่ก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ หากแต่แฟชั่นนั้นกลับสวนทางไปมาเหมือนกับรถบนท้องถนน มันไม่มียุคสมัย ไม่มีกรอบทางเพศ และด้วยความที่แฟชั่นไม่มีปลายทางที่สิ้นสุด และยังคงวนเวียนส่งต่อยุคสมัยให้กันได้อย่างไร้ขีดจำกัดนี้เอง จึงเป็นช่องโหว่ให้เกิดสิ่งที่เรียกกันว่า ‘Fast Fashion’ ซึ่งหมายถึงแฟชั่นที่มาไวและไปไวตามกระแสวัตถุนิยม มีกระบวนการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และท้ายที่สุดแล้วกลายเป็นขยะจำนวนมหาศาล เมื่อเสื้อผ้าเหล่านั้นไม่ได้ถูกใช้งานอีก

.

ในโลกที่ผู้คนจับจ่ายซื้อหาเสื้อผ้า Fast Fashion มาใช้กันเป็นจำนวนมหาศาล การจะลดปริมาณขยะที่เกิดจากเสื้อผ้าเหล่านี้ หากบอกให้เลิกติดตามกระแสแฟชั่นหรือเลิกซื้อเสื้อผ้าก็อาจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากสำหรับคนรักการแต่งตัว ด้วยเหตุนี้ ‘ธุรกิจเสื้อผ้ามือสอง’ จึงเป็นอีกหนทางที่จะช่วยลดปริมาณเสื้อผ้าที่ถูกทิ้ง ผ่านการส่งต่อไปสู่เจ้าของคนใหม่ เพื่อให้เสื้อผ้าถูกใช้งานให้คุ้มค่ามากที่สุดนั่นเอง

.

จุดกำเนิด ‘ธุรกิจเสื้อผ้ามือสอง’

.

ธุรกิจเสื้อผ้ามือสองเป็นสิ่งที่หาต้นกำเนิดอย่างแน่ชัดไม่ได้ว่าเกิดขึ้นจากใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร เพราะแค่เราขายเสื้อผ้าที่ผ่านการใช้งานมาแล้วให้กับคนอื่น นั่นก็ถือว่าเป็นสินค้ามือสองแล้ว แต่หากต้องพูดถึงในแง่ที่มาของธุรกิจอย่างจริงจัง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประเทศแรกที่หลาย ๆ คนนึกถึงและเชื่อว่าเป็นจุดกำเนิดก็คือ ‘ญี่ปุ่น’ อย่างแน่นอน

.

เพราะประเทศญี่ปุ่นมีการโละสินค้าขายส่งให้กับต่างประเทศ ทั้งสินค้าเก่าสินค้าใหม่ รวมถึงของที่มีตำหนิหรือตกยุคเพื่อลดขยะในประเทศ ในราคาที่จับต้องได้มากกว่าประเทศอื่น ผู้คนจึงนิยมรับซื้อสินค้ามือสองจากญี่ปุ่นไปขายต่อเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งรวมถึงเสื้อผ้าด้วย โดยในประเทศญี่ปุ่นเอง ธุรกิจโกดังมือสองเริ่มเป็นที่รู้จักราว 20 ปีก่อน จากนั้นจึงค่อย ๆ ได้รับความนิยมกระจายไปทั่วเอเชียและแพร่ชยายเไปยังทวีปยุโรป

.

แต่ใช่ว่าฝั่งยุโรปเองจะไม่มีธุรกิจนี้มาก่อน ในอดีตประเทศอิตาลีถือว่าเสื้อผ้ามือหนึ่งนั้นมีราคาแพง คนที่จะสามารถซื้อใส่ได้จะเป็นพวกเจ้าขุนมูลนาย ในเมื่อปุถุชนคนธรรมดาไม่สามารถซื้อเสื้อผ้ามือหนึ่งได้ เสื้อผ้ามือสองจึงกลายเป็นสิ่งที่ประชาชนเลือกซื้อ อย่างไรก็ตามคนทั่วไปไม่สามารถขายได้ตามอำเภอใจ เพราะมีข้อกำหนดเอาไว้ชัดเจนว่า ผู้ใดจะขายเสื้อผ้ามือสองต้องได้รับการอบรมถึง 5 ปี ถึงจะสามารถเปิดร้านเป็นของตัวเองได้

.

จนกระทั่งเมื่ออุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปเริ่มเข้ามาช่วงกลางศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ประชาชนทั่วไปเริ่มเข้าถึงเสื้อผ้ามือหนึ่งในราคาที่ถูกลงได้มากขึ้น ธุรกิจมือสองก็เริ่มซบเซา และเปลี่ยนเป็นการส่งต่อเสื้อผ้าใช้แล้วเหล่านั้นให้กับประเทศโลกที่สามอย่างแอฟริกาและเอเชียแทน

.

กลับมาที่ยุคปัจจุบัน Berenberg Bank (ธนาคารเพื่อการลงทุนที่ให้บริการเต็มรูปแบบระดับนานาชาติ) ของประเทศเยอรมนี ได้ทำการวิเคราะห์การเติบโตของธุรกิจสินค้ามือสองเอาไว้ว่า ในระหว่างปี 2014 – 2020 ธุรกิจดังกล่าวมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2020 อยู่ที่ระดับร้อบละ 10 ของตลาดสินค้าจากทั่วโลก คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 20,000 ล้านยูโร หรือเกือบ 70,000 ล้านบาท และในปัจจุบันตลาดสินค้ามือสองก็เติบโตขึ้นมามากกว่าร้อยละ 15 – 20 แล้ว

.

ขณะที่สื่อต่างประเทศอย่าง ABC News ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณขยะที่เกิดจากวงการ Fast Fashion ไว้ว่า ผลิตภัณฑ์จากธุรกิจนี้สร้างปริมาณขยะให้กับโลกถึง 92 ล้านตัน และใช้น้ำในการผลิตถึง 79 ล้านล้านลิตรต่อปี แถมเสื้อผ้าจาก Fast Fashion ทั้งหมดยังถูกนำกลับมาใช้ซ้ำน้อยกว่าร้อยละ 15 ซึ่งถ้าหากเปรียบเทียบปริมาณทรัพยากรในการผลิตกับปริมาณขยะที่ได้แล้ว เรียได้ว่าไม่ต่างอะไรกับการที่เราผลิตสิ่งที่เป็นขยะออกไปนับตั้งแต่ก้าวแรกที่เริ่มทำแล้ว

.

‘ช่วยโลก – แปลกใหม่’ สิ่งที่ได้จากเสื้อผ้ามือสอง

.

เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าสร้างปริมาณขยะมากกว่า 10 ล้านตันภายใน 1 ปี ซึ่งนับว่ามากมายมหาศาล ดังนั้นหากเราสามารถส่งต่อเสื้อผ้าให้กันได้ ก็ถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า รวมไปถึงการช่วยลดปริมาณขยะในเชิง Zero Waste อีกด้วย

.

“เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการทิ้งของเกินจำเป็น ของมือสองคือวิถีนิยมในรสนิยมแบบหนึ่ง” เป็นคำตอบของ ศิรัส อัศวชัยพงษ์ เจ้าของ Stand Behind The Yellow Line ธุรกิจร้านสินค้ามือสองในย่านช้างม่อย เมื่อถูกถามถึงจุดเด่นของธุรกิจเสื้อผ้ามือสอง ที่เขามองว่าการนำเสื้อผ้าที่ยังสามารถใช้งานได้มาจำหน่ายให้กับคนที่สนใจและต้องการเสื้อผ้าเหล่านี้ คืออีกหนึ่งวิธีการที่จะลดปริมาณการทิ้งของเกินจำเป็น

.

ส่วน วรรณวษา เหมือนปิ๋ว นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม อธิบายเหตุผลที่ทำให้เธอชื่นชอบเสื้อผ้ามือสองว่า เพราะเสื้อผ้าที่ดีไม่ใช่เสื้อผ้าที่แพง แต่เป็นเสื้อผ้าที่ใส่แล้วทำให้เจ้าของดูดี พร้อมทั้งอธิบายว่าเธอเป็นผู้ที่ชื่นชอบเสื้อผ้าและสินค้ามือสองเป็นชีวิตจิตใจ เรียกได้ว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตใช้ไปกับการเข้าออกร้านมือสอง เพื่อค้นหาสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ากับสไตล์การแต่งตัวตั้งแต่หัวจรดเท้า

.

“ส่วนตัวเราเป็นคนที่ชอบแต่งตัว เลยคลุกคลีกับเสื้อผ้ามทือสองมานาน เสื้อผ้าที่เพื่อนซื้อมา 3,000 เราซื้อมา 30 ยังมีเลยค่ะ ใส่จนพอใจแล้วก็ปล่อยต่อ ถ้าชอบมาก ๆ ก็เก็บไว้ อาจจะมีข้อเสียตรงที่ต้องคุ้ยหาเองกับเสื้อผ้าอาจจะไม่ได้สะอาดมาก แต่ก็แค่ซักใหม่ แลกกับการที่ได้มาในราคาถูก เราว่ามันคุ้มค่ามาก ๆ

.

“ปกติซื้อสินค้ามือสองตามร้านญี่ปุ่นที่คิดราคาเป็นขีด อย่างตลาดปัฐวิกรณ์ ตึกแดงจตุจักร สนามหลวง 2 ตลาดมือสองงามวงศ์วาน คือมีร้านประจำ ทุกที่จะดีลก่อนไปเอาบ้าง ไปเลือกเองบ้าง ส่วนมากจะเลือกที่ชอบ แล้วก็ที่คิดว่าจะใส่ได้บ่อย แมตช์ได้กับทุกชุด เพราะถึงจะเป็นสินค้ามือสองแต่ก็อยากใช้ให้คุ้ม”

.

จากขยะสู่ธุรกิจรักษ์โลก

.

หนึ่งในธุรกิจในอนาคตของคนรุ่นใหม่จากการเลือกโดยนักวิเคราะห์คือ ‘ธุรกิจสีเขียว’ หรือ ‘Green Business’ ที่เน้นการทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีด้วยกันทั้งหมด 4 รูปแบบ ได้แก่ 1. ธุรกิจ Refill Store 2. ธุรกิจจพลังงานสะอาด 3. ธุรกิจสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสุดท้าย 4. ธุรกิจสินค้าที่ย่อยสลายง่าย สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้

.

ธุรกิจเสื้อผ้ามือสองก็ถือว่าเข้าข่ายธุรกิจสีเขียว จากการที่สินค้าถูกส่งต่อ หมุนเวียน แลกเปลี่ยน เพื่อหยุดกระแส Fast Fashion เป็นความสวยงาม คุ้มค่าคุ้มราคา ที่มาพร้อมกับการทะนุถนอมสิ่งแวดล้อม เพื่อต่อลมหายใจให้กับโลกใบนี้ เสื้อผ้ามือสองจึงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ไปด้วยกันได้ดีกับคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจในทุกอณูของการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ช่วยลดการผลิตเสื้อผ้า Fast Fashion เป็นธุรกิจที่ได้ประโยชน์ทั้งผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และธรรมชาติ

.

วรรณวษาซึ่งนอกจากจะชอบซื้อเสื้อผ้ามือสองแล้ว ยังเป็นแม่ค้าขายเสื้อผ้ามือสองด้วยให้ความเห็นว่า ธุรกิจเสื้อผ้ามือสองนั้นสามารถต่อยอดได้ ด้วยการนำเสื้อผ้ามาดัดแปลงหรือ DIY ซึ่งปัจจุบันพ่อค้าแม่ค้าหลายรายก็นำเสื้อผ้ามือสองมาต่อยอดในแนวทางนี้ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับธุรกิจของตัวเอง ซึ่งเธอเองก็ทำเช่นนั้นอยู่ และคิดว่าธุรกิจของตัวเองค่อนข้างจะไปได้ดี ด้วยความที่พอจะมีฐานลูกค้าและมีเครือข่ายกับคนในแวดวงนี้อยู่บ้าง ทำให้รู้ความต้องการของตลาด ซึ่งช่วยให้ธุรกิจมีลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ

.

อีกเรื่องที่น่าสนใจและถือเป็นโอกาสทางธุรกิจ คือการที่สินค้ามือสองบางอย่างก็เป็นของที่ราคาเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างวงการของแบรนด์เนม เช่น กระเป๋าแบรนด์ดังต่าง ๆ ก็มักจะขายต่อด้วยราคาที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม การมีของเหล่านี้ ส่วนหนึ่งจึงคล้ายกับการซื้อมาเก็งกำไรเพื่อรอปล่อยต่อในอนาคต

.

เสื้อผ้ามือสองก็เช่นเดียวกัน ที่เห็นชัดในหมู่วัยรุ่นยุคปัจจุบัน คือ ‘เสื้อวง’ หรือเสื้อยืดสกรีนลายวงดนตรียุคเก่าที่ไม่มีการผลิตซ้ำ ถือว่าเป็นของหายากของคนรักดนตรีหรือนักสะสม ราคาต่อตัวก็แล้วแต่ความหายากและความเก่า มีตั้งแต่หลักพัน หลักหมื่น ไปจนถึงหลักแสนบาทก็มี เรียกได้ว่าหากรู้จักคุณค่าของสินค้า เสื้อผ้ามือสองที่หลายคนคิดว่าเป็นของราถูกก็สามารถทำเงินให้กับเจ้าของได้มากมายเลยทีเดียว

.

เสื้อผ้ามือสองทุกชิ้นล้วนมีเรื่องราวต่าง ๆ มากมายในตัวของมันเอง และนั่นทำให้สำหรับหลาย ๆ คน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ขยะหรือของรอวันทิ้ง แต่เป็นสิ่งที่ช่วยให้พวกเขาได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์กับการแต่งตัวได้อย่างสนุกสนานภายใต้งบประมาณที่สบายกระเป๋า และการนำเสื้อผ้าที่ยังใช้งานได้มาใช้ต่อ ก็ย่อมจะดีกับสิ่งแวดล้อมและกับโลก มากกว่าการปล่อยให้เสื้อผ้าเหล่านี้ต้องกลายสภาพเป็นของเหลือใช้ที่สูญเสียคุณค่า และกลายเป็นแค่ของรกโลกในสายตาผู้คนแน่ ๆ

.

ข้อมูลอ้างอิง

  • Louise Grimmer, Martin Grimmer (2565). Do you shop for second-hand clothes? You’re likely to be more stylish. จาก https://www.abc.net.au/news/2022-04-12/shop-for-second-handclothes-likely-more-stylish/100983078
  • Pat Phanunan (2564). ‘แฟชั่นหมุนเวียน’ ทางออกวิกฤต Fast Fashion. จาก https://workpointtoday.com
  • Prakai (2563). ทำไม ‘สินค้ามือ2’ บูมในเอเชียสวนทางเศรษฐกิจโลก ยังไม่พอ! แผ่อำนาจ Resale ไปยุโรปด้วย. จาก https://www.marketingoops.com/reports/behaviors/second-hand-stores-boom-in-asia-europe/
  • เฉลิมพล ตั้งศิริสกุล (2565). ‘เสื้อผ้ามือสอง’ เทรนด์ฮิตที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีตสู่ปัจจุบัน. จาก https://www.gqthailand.com/style/article/is-sescondhand-fashion-the-next-bigthing
  • ศิรัส อัศวชัยพงษ์ เจ้าของ Stand Behind The Yellow Line : สัมภาษณ์
  • วรรณวษา เหมือนปิ๋ว นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม : สัมภาษณ์

.

.

เรื่อง : บงกชพร นะวะชัย

ภาพ : Envato

บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Newsletter
Lorem ipsum dolor sit amet conse ctetur adipisicing elit, sed do eiusmod.