คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เมื่อคนไม่พร้อม จาก ‘สัตว์เลี้ยง ‘ จึงกลายเป็น ‘สัตว์จรจัด’

‘สัตว์จรจัด’ ในมุมมองของคุณคืออะไร ?

.

เมื่อพูดถึงสัตว์จรจัด เราจะนึกถึงสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ไม่มีบ้าน ไม่มีอาหาร ไม่ได้รับความอบอุ่น ไม่ได้รับความดูแล ต้องหากินด้วยตัวเอง ส่วนอีกพวกหนึ่งคือสัตว์ที่อาศัยอยู่ในชุมชน เป็นสัตว์จรจัดเช่นกัน เพียงแต่สัตว์เหล่านั้นมีคนให้อาหาร หรือถ้าถ้าโชคดีเจอคนมีกำลังทรัพย์ ก็จะถูกพาไปฉีดวัคซีน ให้ยากำจัดหมัด ซึ่งสิ่งที่ว่ามานี้ตรงข้ามกับสัตว์เลี้ยงที่มีเจ้าของดูแล

.

แต่ยังมีสัตว์อีกกลุ่มหนึ่ง นั่นคือสัตว์เลี้ยงที่เคยอาศัยอยู่กับมนุษย์ เคยมีคนคอยดูแลหาอาหารให้ แต่แล้วกลับถูกทิ้งให้เผชิญกับโลกอันกว้างใหญ่โดยไร้ที่พึ่ง ไม่มีคนคอยดูแลหาอาหารให้เหมือนเช่นทุกวัน ต้องเผชิญกับอันตรายมากมาย ทั้งจากคน สัตว์ด้วยกัน หรือแม้แต่รถที่ขับผ่านไปมาบนถนน ทั้งยังต้องต้องหาอาหารเอง ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยความที่สัตว์เหล่านี้ขาดที่พึ่ง ก็อาจเกิดสัญชาติญาณการเอาตัวรอดที่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น และอาจนำอันตรายย้อนกลับมาสู่ตัวมันเอง

.

หลายคนมีภาพจำเกี่ยวกับสัตว์จรจัดว่าเป็นสัตว์ขี้เรื้อน ร่างกายผอมแห้ง เนื้อตัวสกปรกมอมแมมมีกลิ่นเหม็นสาบ อาศัยอยู่ตามถังขยะ ท่อระบายน้ำ หรือตามซอกตรอกทางเดินต่าง ๆ มีนิสัยดุร้าย สร้างความเดือดร้อนไปทั่ว แต่สัตว์จรจัดเหล่านี้อาจเคยเป็นสัตว์ที่มีเจ้าของมาก่อน บ้างถูกทิ้ง บ้างพลัดหลงกับเจ้าของ และบ้างก็ถูกเลี้ยงแบบปล่อยปะละเลยจนกลายเป็นสัตว์จรจัดไป ส่งผลให้ปัญหาสัตว์จรจัดเป็นปัญหาสังคมของประเทศ และกลายเป็นภาพชินตาที่เราจะพบเห็นสัตว์จรจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ

.

จากการสำรวจทั่วประเทศขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่าในปี 2562 ประเทศไทยมีจำนวนสุนัขจรจัดถึง 2.493 ล้านตัว แบ่งได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 สุนัขที่ไม่มีเจ้าของ หากินตามพื้นที่สาธารณะ ไม่มีคนคอยดูแลให้อาหาร กลุ่มที่ 2 สุนัขที่ไม่มีเจ้าของ หากินตามพื้นที่สารธารณะ มีคนให้อาหารบ้างเป็นครั้งคราว ไม่สามารถจับมาทำหมันได้ และกลุ่มที่ 3 สุนัขจรจัดที่อยู่ตามชุมชน มีคนให้อาหารและดูแลบ้าง มีความใกล้ชิดกับคน ส่วนใหญ่คนดูแลสามารถจับมาทำหมันได้

.

ปัญหาสัตว์จรจัดในสังคมไทยมีสาเหตุหลักจากการที่ผู้เลี้ยงขาดจิตสำนึก ขาดความรับผิดชอบ นำสัตว์มาเลี้ยงแต่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์อย่างถูกต้อง ไม่มีการศึกษาข้อมูลของสัตว์ที่จะรับเลี้ยงมาก่อน ไม่มีความพร้อมในการเลี้ยง ไม่มีการควบคุมการขยายพันธุ์ของสัตว์ หรือแค่อยากเลี้ยงแค่ตอนมันน่ารักในวัยเด็ก แต่เมื่อสัตว์เลี้ยงโตก็เลิกสนใจและเอาไปปล่อยทิ้ง

.

รวมถึงกรณีที่สัตว์เจ็บป่วยจนมีค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่าที่เจ้าของจะดูแลไหว หรือสุนัขมีนิสัยดุร้าย จึงนำไปปล่อยตามสถานที่สาธารณะต่าง ๆ จนทำให้เกิดปัญหาสัตว์เลี้ยงจรจัดเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และนำมาซึ่งปัญหาทางสังคมอย่างต่อเนื่อง เช่น สร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้กับคนในชุมชน ทำลายทรัพย์สิน หรือแม้แต่การสร้างความเดือดร้อนด้านสุขอนามัยเช่น เป็นพาหะของโรค เป็นต้น

.

ผลกระทบเชิงลบจากสัตว์จรจัดที่ส่งผลต่อคนในสังคมนั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางเสียง มูลสัตว์ อุบัติเหตุ และโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน สัตว์บางตัวมีนิสัยดุร้ายและกลายเป็นฝ่ายที่รังแกมนุษย์อย่างเรา มีผู้โชคร้ายหลายรายที่กลายเป็นเหยื่อของสัตว์จรจัด ทั้ง ๆ ที่พวกเขาก็ไม่รู้จักหรือเคยเห็นมันด้วยซ้ำ หลายครั้งที่จบด้วยความรุนแรง หลายคนก็เลือกที่จะใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหา เพราะความรุนแรงไม่ใช่ทางออกเสมอไป แต่มันกลับเป็นชนวนที่ทำให้เกิดผลร้ายตามมาเรื่อย ๆ

.

เช่นเดียวกับผลกระทบด้านโรคติดต่อจากสัตว์จรจัด ซึ่งเป็นอีกสิ่งที่สามารถเกิดได้ตลอด ตราบใดที่เรายังมีการคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยง ซึ่งมีโอกาสที่จะติดโรคจากสัตว์จรจัดได้ตลอดเวลา โรคบางชนิดแพร่กระจายเฉพาะในหมู่สัตว์ด้วยกัน แต่บางชนิดก็แพร่กระจายมาสู่คนได้ และหนึ่งในโรคที่มักจะเจอบ่อยที่สุด และเป็นที่รู้จักมากที่สุดก็คือโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)

.

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ว่า โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำเกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies Virus) โดยมีสัตว์นำโรคคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด และสัตว์นำโรคที่สำคัญที่สุดคือสุนัข มนุษย์จะติดเชื้อนี้จากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือน้ำลายกระเด็นเข้าบาดแผล ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคพิษสุนัขบ้า ดังนั้นไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ที่ติดเชื้อนี้และไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีมักจะเสียชีวิตทั้งหมด

.

หนึ่งในวิธีการแก้ไขปัญหาสัตว์จรจัดคือการนำสัตว์จรจัดมาทำหมัน เพื่อควบคุมจำนวนสัตว์จรจัดไม่ให้เพิ่มจำนวนมากกว่าเดิมที่มีอยู่ ที่ผ่านมาหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ,ภาคเอกชนและภาคประชาชน ต่างก็สนับสนุนโครงการทำหมันสัตว์จรจัดเพื่อพยายามแก้ปัญหาสัตว์จรจัดในประเทศไทย แต่ก็ยังคงไม่เพียงพอกับจำนวนสัตว์จรจัดที่ถูกเจ้าของนำมาปล่อยทิ้ง

.

ทั้งนี้การทำหมันสุนัขและแมวนั้นจะไม่ต่างกันมากนัก โดยการทำหมันกับสัตว์เพศเมียนั้นมีประสิทธิภาพมากกว่าการทำหมันกับสัตว์เพศผู้ สำหรับตัวผู้จะเป็นการผ่าตัดภายนอกคือการตัดอัณฑะ ส่วนตัวเมียต้องทำการผ่าตัดภายในคือการตัดมดลูก ทำให้ต้องพักฟื้นและดูแลมากกว่า โดยก่อนการทำหมัน จะต้องนำสัตว์ไปตรวจสอบสุขภาพก่อน เริ่มจากการตรวจเลือดเพื่อเช็คว่าสัตว์มีปัญหากับเลือดหรือไม่ เพราะอาจจะมีพยาธิในเม็ดเลือดที่ก่อให้เกิดโรคเลือดจาง ซึ่งหากทำการผ่าตัดแล้วอาจเสียเลือดมากได้ และหลังจากทำหมันแล้วจะต้องกักตัวสัตว์อย่างน้อย 3 วัน

.

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัตว์จรจัด นั่นคือ พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งระบุไว้ว่าห้ามไม่ให้เจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือทำให้สัตว์พ้นจากความดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร ยกเว้นจะยกให้คนอื่นนำสัตว์ไปดูแลแทน หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท ส่วนกรณีที่สัตว์จรจัดที่ไม่มีเจ้าของทำร้ายผู้อื่นไม่ว่าร่างกายหรือทรัพย์สิน ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือกรมปศุสัตว์

.

ปัจจุบันแนวทางแก้ปัญหาสัตว์จรจัดที่ภาครัฐดำเนินการอยู่มีหลายวิธีการ ประกอบด้วย การให้เจ้าของมีจิตสำนึกที่ดีมีการเลี้ยงสัตว์อย่างมีความรับผิดชอบ การควบคุมจำนวนสัตว์จรจัดโดยการทำหมัน การขึ้นทะเบียนสัตว์ การส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิสัตว์เพื่อให้มีการช่วยกันจัดการดูแลสัตว์จรจัดในชุมชน และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด หนึ่งในแนวทางที่น่าสนใจคือการจัดการสุนัขของกรมปศุสัตว์ในรูปแบบ ‘สุนัขชุมชน’ เพื่อแก้ปัญหาสุนัขจรจัดให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย

.

วิธีการคือทำให้คนในชุมชนยอมรับเหล่าสุนัขจรจัด จากนั้นจะต้องมีการจัดอาสาสมัครมาช่วยดูแลความเป็นอยู่ ให้อาหาร ดูแลสุขภาพ และสวัสดิการสุนัข โดยกรมปศุสัตว์จะให้การสนับสนุนการในการบริการทางการสัตวแพทย์ เช่น การทำหมัน การถ่ายพยาธิ การฉีดวัคซีน และถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ เป็นการแก้ปัญหาให้สุนัขอยู่ร่วมกับคนในชุมชนได้

.

ถึงตรงนี้บางคนอาจจะมีความคิดว่า หากรับสัตว์จรจัดมาเลี้ยงก็น่าจะช่วยได้ สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก่อนก็คือการเลี้ยงสัตวมาพร้อมความรับผิดชอบ เพราะเรากำลังจะนำอีกชีวิตเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา เราจึงต้องคิดให้ละเอียดถี่ถ้วน เตรียมตัวให้พร้อม รวมถึงหาความรู้เบื้องต้นที่ควรจะมีก่อนการรับสัตว์มาเลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงที่ขายตามฟาร์มหรือสัตว์จรจัด เราควรทำความรู้จักสัตว์ชนิดนั้น ๆ นิสัยส่วนใหญ่ สิ่งที่ชอบ หรือพฤติกรรมอื่น ๆ ที่สำคัญเราควรมีใจที่รักสัตว์และมีความพร้อมในด้านการเงินด้วย เพราะหากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป การเลี้ยงสัตว์ก็อาจจะไม่เป็นไปอย่างที่เราต้องการ และส่งผลให้สัตว์เลี้ยงนั้นกลายเป็นสัตว์จรจัดในท้ายที่สุด

.

สัตว์จรจัดที่อาศัยแบบเร่ร่อนอาจมีนิสัยดุร้าย จนกลายเป็นปัญหาของใครหลาย ๆ คน และการเป็นสัตว์จรจัดนั่นแปลว่าจะไม่มีผู้รับผิดชอบหากเกิดความเสียหายต่อร่างกายและทรัพย์สิน คนส่วนหนึ่งจึงหาวิธีป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ซึ่งบางครั้งเลยเถิดเป็นการใช้ความรุนแรงกับสัตว์ แต่การใช้ความรุนแรงก็ไม่ใช่ทางออก สัตว์เหล่านั้นอาจเคยเป็นสัตว์ที่มีเจ้าของ อาจเคยเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีนิสัยดี เราเองก็ไม่มีทางทราบได้เลยว่าสัตว์เหล่านั้นต้องเจอกับอะไรมาบ้าง บางตัวเจอสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย ทำให้ต้องทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอด

.

ปัญหาสัตว์จรจัดเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบหลายด้าน ทั้งกับตัวสัตว์เองไปจนถึงชุมชนและสังคมที่มีสัตว์จรจัดอาศัยอยู่ แน่นอนว่าการแก้ปัญหานี้ให้หมดไปต้องใช้เวลา แต่สิ่งที่เรารสามารถทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราคิดว่าตนเองเป็นคนรักสัตว์ คือการหลีกเลี่ยงไม่ให้เหตุการณ์สัตว์ถูกทอดทิ้งเกิดขึ้นอีก ถ้าคิดว่าจะเลี้ยงสัตว์ ถามตัวเองให้ดีก่อนว่าพร้อมที่จะเลี้ยงเขาไปจนถึงวารสุดท้ายหรือไม่

.

เพราะถึงจะไม่ได้เลี้ยงสัตว์ที่อยากเลี้ยง แต่ก็ดีกว่าเลี้ยงไม่ไหว จนสัตว์เลี้ยงของเราต้องกลายเป็นสัตว์จรจัดในวันข้างหน้าแน่ ๆ

.

.

เรื่อง : กษิดิส ขันตี, ชนกนันท์ บุญมี, ณัฐดนัย ชัยประเสริฐศิริ, ณัฐภัทร คนสิน, ดวงกมล ตามพหัต, ธนกร ปะละใจ, ธนบูรณ์ เตชะคุณากรกุล, เพ็ญธนาลัย คณฑา, เมขลา พนรัญชน์

ภาพ : Envato

บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Recent Posts
Newsletter
Lorem ipsum dolor sit amet conse ctetur adipisicing elit, sed do eiusmod.