คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“ที๊งคูเท๊ะฌี้” ต้นน้ำดีที่ออมก๋อย : แผนที่ที่เป็นมากกว่าแผนที่

.

‘ที๊งคูเท๊ะ’ แปลว่า ต้นน้ำ และ ‘ฌี้’ แปลว่า ดี ‘ที๊งคูเท๊ะฌี้’ จึงแปลว่า ต้นน้ำดี

แผนที่สีเหลืองเปลือกไข่โดดเด่นดึงดูดขึ้นมาในสายตา เป็นรูปภาพแรกที่พบเจอเมื่อเราค้นหาแผนที่ “หมู่บ้านกะเบอะดิน” เพื่อศึกษาระยะทางก่อนลงพื้นที่ทำสารคดีส่งในกระบวนวิชาการเขียนสารคดีสร้างสรรค์ที่ฉันกำลังศึกษาอย่างทรหดอยู่

แม้ ‘ที๊งคูเท๊ะฌี้’ จะเป็นแผนที่ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบการอธิบายถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชน วิถีชีวิต รวมไปถึงแหล่งน้ำในหมู่บ้าน หากเกิดโครงการเหมืองถ่านหินขึ้นมา แต่แผนที่นี้ก็เปรียบเสมือนเครื่องมือที่สื่อสารกับฉันและกลุ่มเพื่อนว่า การเดินทางของพวกเราไปยังอมก๋อยต่อจากนี้ คงจะไม่ใช่เส้นทางที่ง่ายนัก

ด้วยระยะทางที่ปรากฏในแผนที่ไม่ได้ใช้สเกลตัวเลขที่ชัดเจน ทำให้เราจินตนาการไม่ออกเลยว่าระยะทางในการเดินทางครั้งนี้จะใช้เวลากี่ชั่วโมง เราจะพบเจอกับอะไรบ้าง เราจะเดินทางไปเก็บข้อมูลภายในหมู่บ้านอย่างไร เนื่องจากกะเบอะดินเป็นพื้นที่ที่แม้แต่ระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก (GPS) เองก็เข้าไม่ถึง เพราะบางพื้นที่ในหมู่บ้านไม่มีแม้กระทั่งถนนหนทางให้รถขับผ่าน

สิ่งเดียวที่ทำให้เราจินตนาการถึงสภาพแวดล้อมที่ต้องพบเจอในการเดินทางจากที๊งคูเท๊ะฌี้ฉบับนี้ คือ สายน้ำเส้นสีฟ้าที่พาดลงมาในแผนที่ เป็นหลักประกันว่าอย่างน้อยในหมู่บ้าน เราต้องได้เจอสายน้ำแหละ อย่างน้อยก็น่าจะมีน้ำให้อาบ

แต่เราลืมคิดไปเลยว่า ช่วงเวลาที่เราเดินทางไปกะเบอะดินเป็นช่วงฤดูพายุเข้า สภาพสายน้ำจึงไม่น่าจะสวยงามเท่าใดนัก…

.

เมืองแห่งขุนน้ำกลางหุบเขา

หมู่บ้านกะเบอะดิน หมุดหมายของการลงพื้นที่ครั้งนี้ตั้งอยู่ในอำเภออมก๋อย อำเภอที่ติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน และอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่เป็นระยะทางเกือบ 180 กิโลเมตร ‘อมก๋อย’ เป็นคำในภาษาลัวะ (ละว้า) แปลว่า ‘ขุนน้ำ’ หรือ ‘ต้นน้ำ’ เพียงแค่ความหมายของชื่อก็แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำในหมู่บ้านกลางเทือกเขาถนนธงชัยแห่งนี้แล้ว

ภายในหมู่บ้านกะเบอะดินมี 7 ลำน้ำที่เป็นเหมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คน แบ่งเป็นลำห้วย 2 สายหลัก คือ ห้วยแม่อ่างขาง และ ห้วยผาขาว และ 5 สายย่อย คือ ห้วยมะขาม ห้วยหนองสระ ห้วยตะแอ่งฉ่ากล๊อง ห้วยความคูท่องคี และ ห้วยคลึ๊งมึกล๊อง

.

หเ้วยผาขาวในฤดูฝน

.

ลำห้วยทั้ง 2 สายหลัก เป็นลำห้วยที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะหน้าแล้งหรือหน้าฝน ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับคนในหมู่บ้านกะเบอะดินทุกหลังคาเรือนที่ประกอบอาชีพเกษตรกร เนื่องจากพืชผลหลักของหมู่บ้านที่ส่งออกไปยังตัวเมืองเชียงใหม่และโรงงานต่าง ๆ คือ มะเขือเทศ ฟักทอง และกะหล่ำปลี ซึ่งพืชทั้ง 3 ชนิดเป็นพืชล้มลุกที่ต้องการน้ำปริมาณมาก ชาวบ้านที่นี่จึงไม่ปัญหาการในการใช้ประโยชน์จากลำห้วยทั้งสองสายนี้

สำหรับห้วยมะขาม ลำน้ำสายย่อยที่อยู่คู่กับชาวกะเบอะดินมาช้านาน มีจุดกำเนิดมาจากบริเวณตาน้ำของต้นกล้วยกอใหญ่ ก่อนจะไหลตามเส้นทางน้ำไปยังหมู่บ้าน ซึ่งปัจจุบันยังคงสามารถพบเห็นผู้สูงอายุในหมู่บ้านที่ใช้น้ำห้วยจากมะขามในการอาบ และหาบน้ำขึ้นมาใช้ในครัวเรือนยามที่ระบบ ‘ประปาภูเขา’ มีปัญหา

อีกหนึ่งเกร็ดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสายน้ำในหมู่บ้านกะเบอะดิน คือ แม้ชื่อของห้วยผาขาวจะมีที่มาจากต้นน้ำตรงตำแหน่งผาหินสีขาว จึงเรียกว่าห้วยผาขาว และห้วยแม่อ่างขางมีที่มาจากต้นน้ำตัดผ่านบ้านแม่อ่างขาง จึงเรียกว่าห้วยแม่อ่างขาง แต่สำหรับห้วยมะขามไม่ได้มีต้นน้ำจากมะขามแต่อย่างใด แต่มาจากต้นกล้วย

.

ประปาภูเขาจากดอยพุย

.

นอกจากลำน้ำทั้ง 7 หมู่บ้านแห่งนี้ยังมี ‘ประปาภูเขา’ จากดอยพุย ที่เชื่อมผ่านท่อพีวีซีไปยังวัดแม่อ่างขางและกระจายตามครัวเรือนเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงน้ำสะอาดในการอุปโภคและบริโภค คุณดวงแก้ว – พรชิตา ฟ้าประทานไพร เยาวชนหมู่บ้านกะเบอะดินเล่าให้ฟังว่า น้ำประปาภูเขานี้ไม่มีใครดูแลเป็นพิเศษ แต่ชาวกะเบอะดินทุกคนเป็นผู้ดูแล เมื่อไหร่ที่มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำ จะมีตัวแทนเข้าไปแก้ไขปัญหาทันที โดยหมุนเวียนกันไป

ลำห้วยหลักทั้ง 2 สาย และแหล่งน้ำสายย่อยทั้ง 5 สาย รวมกันเป็นเสมือนโครงข่ายแหล่งน้ำที่ช่วยกระจายความอุดมสมบูรณ์ เป็นเสมือนสิ่งที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตไว้ ทั้งมนุษย์ ผืนป่า รวมไปถึงสัตว์น้อยใหญ่ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ลำน้ำที่ให้ชีวิต ชาวกะเบอะดินจึงมีพิธีการเกี่ยวกับน้ำต่าง ๆ มากมาย อาทิ พิธีกรรมขอขมาป่าต้นน้ำ พิธีกรรมการเลี้ยงผีป่าต้นน้ำ เป็นต้น สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญสิ่งแวดล้อมในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับน้ำ

.

‘ที๊งคูเท๊ะฌี้’ แผนที่เพื่อการต่อสู้

คุณดวงแก้ว เล่าให้เราฟังถึงที่มาของ ‘ที๊งคูเท๊ะฌี้ ต้นน้ำดีที่อมก๋อย’ แผนที่ที่เธอเป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังว่า แผนที่ฉบับนี้ถูกนำมาใช้เพื่อให้การต่อสู้ระหว่างชาวบ้านกะเบอะดินกับนายทุนที่จะเข้ามาทำโครงการเหมืองถ่านหินมีน้ำหนักมากพอ ด้วยการนำข้อมูลความจริงเกี่ยวกับแหล่งน้ำมาเปิดเผยให้เห็น “พวกเราไม่ได้ต่อสู้กันปากเปล่า เราต้องใช้ข้อมูลเข้ามาช่วยในการต่อสู้ เพื่อให้คนข้างนอกรู้ว่าชุมชนของเรามีดียังไง”

ในรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ใช้สำหรับออกประทานบัตรก่อนเริ่มโครงการเหมืองถ่านหิน เต็มไปด้วยข้อพิรุธมากมาย โดยเฉพาะในส่วนของลำน้ำที่ระบุว่าชาวบ้านไม่มีการใช้ประโยชน์ใด ๆ จากห้วยแม่อ่างขางและห้วยผาขาว ทั้งที่ทุกครัวเรือนในหมู่บ้านล้วนพึ่งพาน้ำจากห้วยสองสายนี้ในการดำรงชีวิต

เพราะตำแหน่งที่ขอสัมปทานโครงการเหมืองถ่านหิน เป็นตำแหน่งที่สายน้ำไหลบรรจบกัน แน่นอนว่าหากมีการดำเนินการทำเหมือง วิถีชีวิตของชาวบ้านจะเปลี่ยนไป กลุ่มเยาวชนหมู่บ้านกะเบอะดินจำนวน 10 คนจึงออกสำรวจพื้นที่เก็บข้อมูลตลอด 1 ปี เพื่อโต้แย้งกับสิ่งที่ระบุไว้ในรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระหว่างการเก็บข้อมูลพวกเขาพบอุปสรรคมากมาย จึงต้องขอความช่วยเหลือจากผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเพื่อให้ข้อมูลครบถ้วนมากยิ่งขึ้น ผลจากการทำงานเป็นทีมของผู้คนในชุมชน รวมถึงผู้ชำนาญการ (ภาคีเครือข่ายปกป้องอมก๋อย) จากภายนอก ทำให้แผนที่ฉบับนี้ครบถ้วน และออกมาสู่สาธารณะในท้ายที่สุด

.

ห้วยผาขาว แหล่งน้ำสำคัญในการทำเกษตรกรรมของคนในหมู่บ้านกะเบอะดิน

.

ตลอดการลงพื้นที่ในหมู่บ้านกะเบอะดินทั้งสามวัน เมื่อตั้งคำถามกับมิตรสหายที่พบเจอกันโดยตั้งใจว่า ‘สามสิ่งที่สำคัญกับหมู่บ้านกะเบอะดินคืออะไร’ แม้คำตอบสองอย่างอาจแตกต่างกันไป แต่มีหนึ่งสิ่งที่ทุกคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘สายน้ำ’ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับหมู่บ้านกลางหุบเขาแห่งนี้

เพราะมีสายน้ำจึงมีวิถีชีวิต เพราะมีสายน้ำจึงมีอาชีพ เพราะมีสายน้ำจึงมีกะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์แห่งนี้

.

.

เรื่อง : ซูไรญา บินเยาะ

ภาพ : จิราเจต จันทร์คำ, กรองกาญจน์ เกี๋ยงภาลัก, วิชญ์รัตน์ สร้อยฉวี

บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Newsletter
Lorem ipsum dolor sit amet conse ctetur adipisicing elit, sed do eiusmod.