คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จากยอดดอยสู่ตลาด การเดินทางของ ‘มะเขือเทศกะเบอะดิน’

เพราะเรื่องปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ ชาวกะเบอะดินจึงต้องทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงชีพ “เพราะการเกษตร อยู่กับชาวกะเบอะดินตั้งแต่เกิดยันตาย”

‘ชุมชนกะเบอะดิน’ หมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยงโปว์บนยอดดอยสูงในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ที่ประชากรทุกหลังคาเรือนปลูกพืชเป็นอาชีพหลัก เนื่องจากบริบททางสังคมและพื้นที่ของชุมชน ทำให้ ‘เนื้อสัตว์’ เป็นสิ่งที่หาได้ยากและราคาแพง

ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงต้องเลือกบริโภคกันอย่างประหยัด ทำให้วัตถุดิบที่นำมาใช้ประกอบอาหารของชาวกะเบอะดินจึงมักจะมี ‘พืชผัก’ ที่พวกเขาปลูกกันเองเป็นส่วนประกอบหลัก

ชาวกะเบอะดินนิยมปลูกพืชหมุนเวียนกันตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ฟักทอง พริก กะหล่ำปลี คือรายชื่อของพืชผักที่เกษตรกรชาวกะเบอะดินนิยมปลูกกันเป็นประจำในทุก ๆ ปี แต่ถ้าถามถึงพืชที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวกะเบอะดินแล้ว คงต้องยกให้ ‘มะเขือเทศ’

.

‘มะเขือเทศกะเบอะดิน’ พืชเศรษฐกิจในยามหน้าแล้ง

.

มะเขือเทศ พืชเศรษฐกิจหลักของชุมชนกะเบอะดิน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

.

“ในหน้าแล้งเราจะปลูกมะเขือเทศกันที่ทุ่งนา ส่วนหน้าหนาวพวกเราก็จะย้ายไปปลูกกันที่บนเขา” แกละซัง พลทวิช เกษตรกรชาวกะเบอะดินกล่าวถึงลักษณะการปลูกพืชหมุนเวียนของชาวบ้านในทุก ๆ ปี

‘ฤดูกาล’ เป็นปัจจัยสำคัญในการทำเกษตรของทุก ๆ พื้นที่ โดยปกติแล้วพืชแต่ละชนิดจะมีฤดูกาลที่เหมาะสมต่อการปลูก อย่าง ‘มะเขือเทศ’ จะเป็นพืชที่ชอบความชื้นและอากาศเย็นจัด เกษตรกรส่วนใหญ่จึงมักจะเริ่มปลูกมะเขือเทศตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม หรือที่เรียกกันว่าช่วงปลายฝนต้นหนาว ไปจนถึงฤดูหนาวช่วงเดือนธันวาคม เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สมบูรณ์และมีคุณภาพมากที่สุด

อย่าไรก็ตาม เมื่อผ่านพ้นช่วงฤดูหนาวไปแล้ว การปลูกมะเขือเทศจะกลายเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับเกษตรกร เนื่องจากการปลูกพืชนอกฤดูนั้น ต้องดูแลและเอาใจใส่มากกว่าการปลูกพืชตามฤดูกาลหลายเท่า ขณะที่คุณภาพผลผลิตที่ได้ก็อาจจะลดลง จนนำไปสู่ภาวะสินค้าขาดตลาด แต่ปัญหาเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นที่ชุมชนกะเบอะดิน

อยากกินฟักทองรสหวาน ที่กะเบอะดินมีให้กินทั้งปี

อยากกินมะเขือเทศแสนอร่อย ที่กะเบอะดินก็มีให้กินทั้งปี

เพราะที่กะเบอะดินมี ‘ต้นน้ำ’ ที่ดีให้ใช้ทั้งปี ทำให้การเกษตรของพวกเขาดีทั้งปีตามไปด้วย

‘ห้วยผาขาว’ และ ‘ห้วยมะขาม’ คือแหล่งน้ำดีตลอดทั้งปีของชาวกะเบอะดิน ที่บอกกว่าเป็นแหล่งน้ำดี นั่นก็เพราะน้ำจากลำห้วยทั้งสองไม่เคยแห้งแล้งเลยสักครั้ง ชาวบ้านกะเบอะดินสามารถใช้น้ำจากทั้งสองแหล่งนี้ในการทำสวนได้ทั้งปี โดยไม่ต้องแก่งแย่งกันแต่อย่างใด และนี่คือเหตุผลที่ทำให้เกษตรกรชาวกะเบอะดิน สามารถปลูกมะเขือเทศได้ทั้งปีนั่นเอง

อากาศในชุมชนกะเบอะดินก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เกษตรกรที่นี่สามารถปลูกมะเขือเทศได้ตลอดทั้งปี กะเบอะดินเป็นหมู่บ้านที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำ เนื่องจากอยู่บนภูเขาสูง ทั้งยังรายล้อมไปด้วยต้นไม้และป่าไม้นานาพรรณ ซึ่งสภาพอากาศเช่นนี้เหมาะกับธรรมชาติของมะเขือเทศนที่ชอบอากาศเย็นและชอบความชื้นเป็นอย่างดี

.

จากดอยสูงสู่ตลาดทั่วภาคเหนือ

.

เกษตรกรชาวกะเบอะดินคัดแยกผลผลิตที่มีคุณภาพและผลผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานออกจากกัน เพื่อเตรียมส่งออกไปขายให้กับพ่อค้าคนกลาง

.

“เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ชาวบ้านก็จะผลัดกันไปเก็บมะเขือเทศ มันเหมือนเป็นการไปเอามื้อนั่นแหละ ใครว่างก็ไปช่วยกัน ค่อย ๆ ช่วยกันไปทีละสวน พอเก็บเสร็จแล้วเราก็จะเอามานั่งคัด แล้วส่งให้นายทุนเขาไปขายต่ออีกที” ดวงใจ วงศธง เกษตรกรชาวกะเบอะดิน เล่าถึงกระบวนการในการเดินทางของมะเขือเทศจากหมู่บ้านสู่ท้องตลาด

โดยส่วนใหญ่แล้ว ชาวบ้านที่ทำการเกษตร มักจะมีนายทุน หรือที่เราเรียกติดปากกันว่า ‘พ่อค้าคนกลาง’ เป็นคนมาลงทุนและรับซื้อเหมาผลผลิตของชาวบ้านเพื่อนำไปขายต่อ โดยการซื้อขายผลผลิตในแต่ละครั้ง เกษตรกรกับนายทุนมักจะทำข้อตกลงเรื่องราคาประกันสินค้าเอาไว้ก่อน เพื่อเป็นหลักยืนยันว่าการทำเกษตรของพวกเขานั้นจะไม่สูญเปล่า

สำหรับราคาซื้อเหมาแต่ละครั้งก็จะแตกต่างกันออกไป บางครั้งราคาประกันอาจสูงมาก แต่ก็มีบางครั้งที่ราคาประกันต่ำกว่าปกติ อย่างเช่นในช่วงเดือนกันยายนที่พวกเราเดินทางไปที่กะเบอะดิน ราคามะเขือเทศจะอยู่ที่ 10 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถือเป็นราคาในระดับกลาง ๆ สำหรับเกษตรกร

เมื่อผลผลิตพร้อมแล้ว จุดหมายต่อไปของมะเขือเทศจากกะเบอะดิน ก็ได้แก่ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือท้องตลาดในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และจังหวัดอื่น ๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ ก่อนที่มะเขือเทศจากยอดดอย จะไปสิ้นสุดปลายทางอยู่บนจานอร่อยของใครสักคนนั่นเอง

.

การไม่หยุดพัฒนา พาชุมชนสู่ ‘ความเข้มแข็ง’

.

แม้ว่าจะที่ยังมีความทุรกันดารอยู่บ้าง แต่เกษตรกรชาวกะเบอะดินรุ่นใหม่ก็พยายามพัฒนาการเกษตรของพวกเขามาโดยตลอด รวมทั้งพยายามแสวงหาสิ่งใหม่ ๆ ที่จะช่วยสร้างโอกาสและความก้าาวหน้า รวมถึงผลประโยชน์ที่คุ้มค่าให้กับชุมชนของพวกเขาอยู่เสมอ

“เรามีความคิดที่จะลองปลูกพวกไม้ยืนต้นหรือผลไม้ดูบ้าง ที่หมู่บ้านอื่นเขามีการปลูกพวกแมคคาเดเมีย หรืออะโวคาโดกันบ้างแล้ว แต่ที่กะเบอะดินยังไม่มีใครปลูกกัน ถ้ามีโอกาส ในอนาคตก็อาจจะลองหามาปลูกดู”

พรชิตา ฟ้าประทานไพร เยาวชนกะเบอะดินที่เกิดในครอบครัวเกษตรกร พูดถึงแนวคิดที่จะนำไม้ยืนต้นเข้ามาลองปลูกในหมู่บ้าน เพื่อที่หมู่บ้านบนยอดดอยแห่งนี้จะได้มีพืชชนิดใหม่ ๆ เข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ให้กับท้องตลาดในอนาคต

การเกษตรในกะเบอะดินนั้นยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง แม้ว่าพวกเขาจะเคยพบกับช่วงเวลาที่โหดร้ายอย่างช่วงที่เกิดโรคระบาดในพืช หรือช่วงที่ราคาพืชตกต่ำ แต่ความอดทน และความไม่ยอมแพ้ของพวกเขา ทำให้ชุมชนแห่งนี้ผ่านเรื่องราวเลวร้ายมาได้

แม้ว่าในปัจจุบันจะมีประเด็นปัญหาโครงการเหมืองถ่านหินในพื้นที่ แต่ชาวกะเบอะดินก็ยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ คือการไม่ยอมปล่อยให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่เข้ามาครอบครองพื้นที่ทำกิน ที่ตั้งใจดูแลรักษาเอาไว้ให้กับรุ่นลูกรุ่นหลานของพวกเขา

เกษตรกรชาวกะเบอะดินยังคงมีความเชื่อว่า สักวันหนึ่งชุมชนของพวกเขาจะต้องพัฒนาไปในทางที่ดีกว่าเดิม

และคงจะดีมากยิ่งขึ้น หากได้รับการดูแลช่วยเหลือจากภาครัฐมากกว่าที่เป็นอยู่

.

.

เรื่อง : สุทธิกานต์ วงศ์ไชย

ภาพ : จิราเจต จันทร์คำ, กรองกาญจน์ เกี๋ยงภาลัก, วิชญ์รัตน์ สร้อยฉวี

บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Newsletter
Lorem ipsum dolor sit amet conse ctetur adipisicing elit, sed do eiusmod.