คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

One China Policy : เมื่อนโยบาย ‘จีนเดียว’ ถูกท้าทาย

“เหมือนโลกเรามียักษ์ใหญ่อยู่ตัวหนึ่ง ทุกคนกลัว แล้วอยู่ดี ๆ มีผู้หญิงคนหนึ่งไปกรีดข้อเท้ายักษ์ ทำให้ทุกคนเห็นว่ายักษ์ก็เลือกออกได้ ถ้ายักษ์เลือดออกได้ ก็หมายความว่ายักษ์ก็ล้มได้นั่นเอง นี่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพราะฉะนั้นการเยือนไต้หวันของเพโลซีมันยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะกับไต้หวันเท่านั้น แต่มันยิ่งใหญ่กับโลกด้วย”

.

ประโยคข้างต้นถูกเอ่ยขึ้นในระหว่างที่ผู้เขียนกำลังสัมภาษณ์นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ซึ่งเมื่อได้ฟังแล้วก็คิดตามไปว่า ‘จีน’ ที่ถูกกล่าวขานว่าเป็นมหาอำนาจแห่งเอเชีย เป็นยักษ์ใหญ่ที่ไม่มีผู้ใดกล้าต่อกร แต่แล้วยักษ์ที่ใคร ๆ ต่างเกรงกลัว กลับถูกผู้หญิงคนหนึ่งจากประเทศตะวันตกแสดงให้เห็นว่า ต่อให้เป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่มาจากไหน แต่ความยิ่งใหญ่นั้นก็ไม่อาจยึดกุมไปได้ตลอดกาล

.

ต้นเหตุที่ทำให้เกิดประโยคข้างต้น มาจากการเดินทางเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 2-3 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างมากต่อจีนแผ่นดินใหญ่หรือสาธารณรัฐประชาชนจีน นำไปสู่มาตรการตอบโต้อย่างการซ้อมรบใกล้ชายแดนได้หวันหลังจากที่นางเพโลซีเดินทางกลับแล้ว และส่งผลต่อเนื่องมาสู่ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวัน และระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ที่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น

.

ทำไมการเดินทางมาเยือนไต้หวันของผู้นำระดับสูงของสหรัฐถึงสร้างความไม่พอให้กับจีนมากเช่นนั้น ? เป็นเพราะนี่คือการแสดงออกที่ทำให้จีนรู้สึกว่านโยบาย ‘จีนเดียว’ หรือ ‘One China Policy’ ที่จีนยึดถือมาโดยตลอดกำลังถูกสั่นคลอน และหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ก็เหมือนกับความเป็นหนึ่งเดียวในชาติที่จีนต้องการกำลังถูกคุกคามไปด้วย

.

‘ก๊กมินตั๋ง – คอมมิวนิสต์’ ต้นตอความขัดแย้ง ‘จีน – ไต้หวัน’

.

ความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวัน เป็นความขัดแย้งจากความเชื่อที่แตกต่างกันทางการเมือง จนกลายเป็นการแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีที่มาย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาที่จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย

.

จากบทความเรื่อง ‘เส้นทางประวัติศาสตร์การปกครองของประเทศจีน’ ของ กมลชนก โตสงวน อธิบายว่า ในช่วงท้ายของการปกครองยุคราชวงศ์ ราชวงศ์ชิงที่ปกครองประเทศอยู่ในเวลานั้นต้องเผชิญกับความเสื่อมถอยจากปัจจัยหลายประการ เช่นความไม่พอใจของประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวฮั่นที่มีต่อราชวงศ์ผู้ปกครองซึ่งเป็นชาวแมนจู ความพ่ายแพ้ในการทำสงครามกับชาติตะวันตกและถูกประเทศผู้ชนะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ จนในที่สุดก่อให้เกิด ‘การปฏิวัติซินไฮ่’ ที่ประชาชนรวมตัวกันต่อสู้กับราชสำนัก ภายใต้การนำของ ‘ดร.ซุนยัดเซ็น’ จนนำไปสู่การสละราชสมบัติของจักพรรดิ และการก่อตั้ง ‘สาธารณรัฐจีน’ ในที่สุด

.

อย่างไรก็ตาม หลังการสถาปนาสาธารณรัฐจีน ความขัดแย้งทางการเมืองภายในจีนยังคงดำเนินต่อไป หลังการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของ ดร.ซุนยัดเซ็น ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ‘หยวนซื่อข่าย’ อดีตขุนนางซึ่งมีอำนาจทางการทหารได้ประกาศตนเป็นประธานาธิบดีทางภาคเหนือ และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิในปี ค.ศ. 1915 แต่เขาเป็นผู้นำได้เพียง 83 วัน ก็ต้องยอมสละราชบัลลังก์เพราะทนกระแสต่อต้านจากทั่วประเทศไม่ไหว ก่อนที่จะเสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1916 ส่วน ดร.ซุนยัดเซ็นได้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำคนแรกของ ‘พรรคก๊กมินตั๋ง’ ในปี ค.ศ. 1919 ก่อนจะเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1925

.

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน การปฏิวัติสังคมนิยมครั้งใหญ่ของสหภาพโซเวียตในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1917 ทำให้ลัทธิมาร์กซ์-เลนินเข้ามาสู่ประเทศจีน โดยกลุ่มปัญญาชนหัวก้าวหน้าที่ต้องการหาแนวทางเพื่อช่วยเหลือประเทศได้นำหลักการดังกล่าวมาใช้ และยึดพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียเป็นแบบอย่างในการก่อตั้ง ‘พรรคคอมมิวนิสต์’ แห่งประเทศจีนขึ้นในปี ค.ศ. 1921

.

แม้พรรคคอมมิวนิสต์และพรรคก๊กมินตั๋งจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่ในระยะแรกทั้งสองฝ่ายยังคงมีความร่วมมือระหว่างกันอยู่ โดยเฉพาะในการต่อต้านระบอบจักรพรรดิ อย่างไรก็ตาม การจากไปของ ดร.ซุนยัดเซ็นส่งผลให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรคก๊กมินตั๋ง และลามไปสู่ความบาดหมางกับพรรคคอมมิวนิสต์ จนท้ายที่สุดลงเอยด้วยการที่ ‘เจียงไคเช็ก’ ผู้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำพรรคก๊กมินตั๋งต่อจากดร.ซุนยัดเซ็น ทำการสถาปนารัฐบาลจีนคณะชาติ และประกาศตัดความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์ นำไปสู่สงครามภายในประเทศระหว่างทั้งสองฝ่าย

.

เมื่อกองทัพญี่ปุ่นรุกรานจีนอย่างเต็มรูปแบบในปี ค.ศ. 1937 พรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์หันมาร่วมมือกันเพื่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น โดยสงครามยืดเยื้อไปจนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อสงครามกับญี่ปุ่นยุติลง ทั้งสองฝ่ายทำสนธิสัญญาสงบศึกร่วมกันแต่ก็ไร้ผล ทำให้พรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์ต้องกลับมารบกันเองอีกครั้ง จนในที่สุดพรรคคอมมิวนิสต์เป็นฝ่ายชนะ พรรคก๊กมินตั๋งภายใต้การนำของเจียงไคเช็กอพยพหนีไปยังเกาะไต้หวัน ขณะที่ ‘เหมาเจ๋อตง’ ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ได้ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนที่กรุงปักกิ่ง ในปี ค.ศ. 1949

.

One China Policy : ‘จีน’ มีเพียงหนึ่งเดียว

.

หลังได้รับชัยชนะ พรรคคอมมิวนิสต์ปกครองจีนแผ่นดินใหญ่ภายใต้ระบอบสังคมนิยม โดยมีชื่อประเทศอย่างเป็นทางการว่า ‘สาธารณรัฐประชาชนจีน (People’s Republic of China)’ ขณะที่พรรคก๊กมินตั๋งซึ่งพ่ายแพ้และหนีไปอยู่ที่เกาะไต้หวัน ได้ประกาศตั้งรัฐบาลจีนคณะชาติหรือ ‘สาธารณรัฐจีน (Republic of China)’ ขึ้น ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างว่าตนเองเป็นตัวแทนชาวจีนทั้งหมด โดยจีนได้ประกาศหลักการ ‘จีนเดียว’ ที่ถือว่าไต้หวันเป็นเพียงมณฑลหนึ่งที่แยกตัวออกไป และในวันหนึ่งจะนำไต้หวันกลับคืนมา ขณะที่ไต้หวันก็ยืนยันว่าตนเองเป็นรัฐอธิปไตย และต้องการจะกลับไปยึดครองจีนอีกครั้ง

.

ในระยะแรกนานาชาติให้การรับรองรัฐบาลของสาธารณรัฐจีนว่าเป็นตัวแทนของชาวจีนทั้งประเทศ และสาธารณรัฐจีนยังได้ที่นั่งของจีนในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติด้วย แต่ในปี ค.ศ. 1971 สหประชาชาติได้หันมายอมรับรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีนในทางการทูต เช่นเดียวกับประเทศต่าง ๆ ที่หันมาให้การยอมรับรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่และสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐอเมริกาเริ่มฟื้นฟูความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี ค.ศ.1972 และประกาศยอมรับหลักการ ‘จีนเดียว’ ที่หมายถึงสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องเพียงรัฐบาลเดียว ส่วนไต้หวันเป็นเพียงมณฑลหนึ่งของจีนเท่านั้น

.

การยอมรับหลักการดังกล่าวของสหรัฐอเมริกา เป็นการสนับสนุนจุดยืนของจีนทางการทูตที่ว่ามีรัฐบาลจีนเพียงรัฐบาลเดียว นั่นคือรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศใดที่ต้องการมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่ต้องยุติความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับรัฐบาลไต้หวัน ภายใต้นโยบายนี้ สหรัฐยอมรับและมีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับจีนแทนที่จะเป็นเกาะไต้หวัน ซึ่งส่งผลให้ประเทศอื่น ๆ เลือกที่จะสานสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่และตัดความสัมพันธ์กับไต้หวัน

.

นโยบายนี้ถือเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา อีกทั้งเป็นรากฐานทางการทูตและการกำหนดนโยบายของจีนด้วย อย่างไรก็ตาม นโยบายของสหรัฐไม่ใช่การยอมรับจุดยืนของรัฐบาลจีนเพียงอย่างเดียว เพราะสหรัฐยังเลือกที่จะรักษาความสัมพันธ์ ‘อย่างไม่เป็นทางการที่เหนียวแน่น’ กับไต้หวัน รวมถึงยังคงขายอาวุธให้กับไต้หวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไต้หวันใช้ป้องกันตัวเองได้

.

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ราม โชติคุต อาจารย์ประจำสำนักวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายถึงที่มาของนโยบาย One China Policy ว่ามาจากปัจจัยในทางจิตวิทยา เพราะเดิมจีนเป็นหนึ่งเดียวมาตั้งแต่อดีต “ไต้หวันถือว่า ดร.ซุนยัดเซ็นคือผู้ก่อตั้งพรรคมินตั๋ง ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเองก็ให้ความเคารพ ดร.ซุนยัดเซ็น ในฐานะนักปฏิวัติคนหนึ่ง เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่จีนซึ่งอยู่ด้วยกันมาแต่ไหนแต่ไร ถึงแม้จะเปลี่ยนการปกครองแล้ว เราก็ยังมีพ่อคนเดียวกัน จีนมองว่าอย่างไรก็เป็นคนจีนเหมือนกัน เป็นจีนเดียวมาโดยตลอด และไม่เคยมีวันเปลี่ยนแปลง”

.

ผู้ช่วยศาสตราจารย์รามกล่าวต่อไปว่า การยอมรับนโยบายดังกล่าวของสหรัฐในช่วงทศวรรษที่ 70 เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ในช่วงเวลานั้นภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดของสหรัฐอเมริกาก็คือสหภาพโซเวียต ทำให้สหรัฐไม่อยากเผชิญหน้ากับจีน เพราะถ้าหากว่าต้องรบกับทางฝั่งโซเวียตแล้วมีจีนเข้ามาร่วมด้วยอาจทำให้สหรัฐเสียเปรียบได้ จึงเลือกที่จะสนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่ ด้วยการรับรองสถานะของจีนตามนโยบาย One China Policy

.

เพโลซีเยือนไต้หวัน : หญิงที่กล้ากรีดข้อเท้ายักษ์

.

“เหมือนโลกเรามียักษ์ใหญ่อยู่ตัวหนึ่ง ทุกคนกลัว แล้วอยู่ดี ๆ มีผู้หญิงคนหนึ่งไปกรีดข้อเท้ายักษ์ ทำให้ทุกคนเห็นว่ายักษ์ก็เลือกออกได้ ถ้ายักษ์เลือดออกได้ ก็หมายความว่ายักษ์ก็ล้มได้นั่นเอง นี่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพราะฉะนั้นการเยือนไต้หวันของเพโลซีมันยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะกับไต้หวันเท่านั้น แต่มันยิ่งใหญ่กับโลกด้วย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ราม ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่าเหตุใดการเดินทางมาเยือนไต้หวันของแนนซี เพโลซี ถึงสร้างความไม่พอใจให้กับจีนแผ่นดินใหญ่เป็นอย่างมาก

.

“ความที่เพโลซีดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐสภา กับจริง ๆ แล้วก็อาจจะเป็นวาระส่วนตัวของเธอที่อยากจะสนับสนุนไต้หวัน หรือว่าต้องการที่จะท้าทายจีน ให้โลกเห็นว่าสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรทั้งหลายไม่กลัวจีนอีกต่อไป เพราะเท่าที่ผ่านมา ไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ หลาย ๆ ชาติต้องเกรงใจจีน โดยเฉพาะชาติเล็กชาติน้อยในเอเชีย หรือแม้แต่ชาติมหาอำนาจด้วยกัน แต่เพโลซีพยายามจะบอกว่า จีนก็ไม่ได้น่ากลัวหรอก เห็นไหมว่าฉันจะทำอะไรก็ได้ ที่เป็นการท้าทายจีน

.

“เรื่องนี้เราอาจจะมองได้ว่ามันเป็นวาระส่วนหนึ่งของตัวเพโลซีเอง แต่อีกด้านหนึ่ง มันเป็นการสะท้อนให้เห็นความเป็นอิสระของสถาบันทางการเมืองของสหรัฐ เพราะว่าเอาเข้าจริง ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ก็ไม่ได้อยากให้เพโลซีเดินทางมาไต้หวันหรอก แต่เพโลซีก็คงบอกว่าฉันเป็นผู้แทนราษฎร ประชาชนเลือกฉันมา แล้วฉันจะไปเพื่อไปแสดงจุดยืนในการปกป้องเสรีภาพและความยุติธรรม ทำไมฉันจะทำไม่ได้”

.

นอกจากนี้ผู้ช่วยศาสตราจารย์รามยังกล่าวด้วยว่า การเยือนไต้หวันของเพโลซีไม่ได้ส่งผลเฉพาะกับไต้หวันเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อประเทศเล็ก ๆ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ในการที่จะกำหนดท่าทีของความสัมพันธ์ที่มีต่อจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย

.

“อย่างไทยเราก็มีนโยบาย เขาเรียกนโยบายทางการทูตของไทยว่าเป็น ‘Siamese Talk’ คือเข้ากันกับทุกฝ่ายเพื่อจะได้ประโยชน์ ที่ผ่านมาเรายอมจีนค่อนข้างเยอะ แต่การมาของเพโลซีก็ทำให้ประเทศที่เคยตามจีนมาตลอดต้องหันมาพิจารณาเหมือนกัน มาทบทวนว่า เฮ้ย จีนก็เลือดออกได้นี่ เห็นไหม ผู้หญิงคนหนึ่งกล้าทำได้ขนาดนี้ เพราะฉะนั้นเราเป็นอะไร เราเป็นเบี้ยล่างมาโดยตลอด เราก็น่าจะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งแน่นอนว่าถ้าอยากที่จะหลุดพ้นอิทธิพลจากจีน เราก็ต้องวิ่งไปหาสหรัฐอเมริกา หรือว่าจะไปเป็นพันธมิตรกับไต้หวันไหม อย่างนี้เป็นต้น”

.

อนาคตความสัมพันธ์ จีน – ไต้หวัน – สหรัฐอเมริกา

.

ผู้ช่วยศาสตราจารย์รามกล่าวว่าการมาเยือนไต้หวันของเพโลซี เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อบูรณภาพแห่งดินแดนของจีนโดยตรง เพราะการปล่อยให้สหรัฐมีบทบาทในไต้หวันมากเกินไป ก็เหมือนเปิดการประตูให้สหรัฐซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของจีน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม มาคุกคามอยู่ใกล้ ๆ

.

“เพราะสหรัฐสนับสนุนไต้หวันในหลาย ๆ ด้าน อย่างระบบอาวุธของไต้หวันส่วนใหญ่ก็มาจากสหรัฐ ในอนาคตหากจีนเกิดรบกับสหรัฐขึ้นมา ไต้หวันอาจเป็นฐานทัพให้สหรัฐเอาอาวุธมาจัดตั้งเพื่อโจมตีจีน เหมือนในช่วงยุคสงครามเย็นที่สหภาพโซเวียตเคยขนหัวรบนิวเคลียร์ไปติดตั้งที่คิวบาซึ่งอยู่ใกล้กับสหรัฐ ผู้นำจีนจึงเกรงว่าหากเกิดความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น สถานการณ์เช่นนี้ก็อาจเกิดขึ้นได้ หากนำไต้หวันกลับคืนมาอยู่ในการปกครองของจีน อย่างน้อยก็สามารถกำจัดภัยคุกคามไปได้”

.

นอกจากนี้อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เศรษฐกิจของไต้หวันและจีนต่างก็เติบโตอย่างมากจนกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจที่สำคัญของเอเชียและของโลก ปัจจุบันไต้หวันเป็นแหล่งผลิตชิปที่สำคัญของโลก ซึ่งชิปถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการอย่างมากในอุสาหกรรมเทคโนโลยีต่าง ๆ ดังนั้นในอนาคตถ้าหากจีนสามารถรวมไต้หวันเข้ามาได้ ก็จะเพิ่มความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้กับจีนอีกมหาศาล

.

เมื่อถามว่าสุดท้ายแล้วความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างจีนกับไต้หวัน รวมไปถึงความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาจะเป็นอย่างไร ผู้ช่วยศาสตราจารย์รามกล่าวว่ามีความเป็นไปได้ในสามทิศทาง คือ

.

ประการแรก จีนเข้ายึดครองไต้หวันด้วยกำลังอาวุธ หรืออีกทางหนึ่งคือใช้การเจรจาต่อรอง แต่อาจใช้เวลานานจนเกิดความขัดแย้งได้ หรืออีกทางคือเป็นลักษณะของการให้คำสัญญาต่อไต้หวันจะใช้รูปแบบ ‘หนึ่งประเทศสองระบบ’ และจะไม่เข้าไปแทรกแซง แต่จีนก็เคยทำการปรามปรามผู้ชุมนุมในฮ่องกงมาแล้ว ซึ่งการใช้วิธีการนี้อาจนำไปสู่ความขัดแย้งอีกมากมายในอนาคต

.

ประการที่สองคือคงสถานะของแต่ละฝ่ายไว้อย่างเดิม เพราะในปัจจุบันทุกฝ่ายต่างก็ยังได้ประโยชน์อยู่ หากความขัดแย้งบานปลายจนเกิดสงครามขึ้น ทั้งจีนและสหรัฐจะเสียผลประโยชน์มากมายมหาศาล เพราะไต้หวันเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทันสมัยชั้นสูง

.

ส่วนประการสุดท้ายคือแยกเป็นอิสระและเติบโตไปด้วยกัน ไต้หวันก็เป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องผูกพันกับจีนแผ่นดินใหญ่อีก ซึ่งเวลาจะเป็นเครื่องตัดสิน ในที่นี้รวมถึงความคิดของคนด้วย เพราะท้ายที่สุดแล้วความคิดของคนอาจจะเปลี่ยน มุมมองของคนจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีต่อไต้หวันอาจจะเปลี่ยน มุมมองของคนไต้หวันอาจจะเปลี่ยน และมุมมองของสหรัฐอเมริกาก็อาจจะเปลี่ยนด้วยเช่นเดียวกัน

.

“คนไต้หวันมองว่าเขาไม่ใช่จีนแบบเดิม แบบพรรคคอมมิวนิสต์ เขาคือประเทศใหม่ ยิ่งไต้หวันแยกตัวออกไปนานเท่าไหร่ ยิ่งยากที่จะกลับคืนสู่จีนแผ่นดินใหญ่ เพราะทุกวันนี้เราจะเห็นความขัดแย้งกัน ความไม่เข้ากันทางความคิดเห็นทางการเมืองระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจีนแผ่นดินใหญ่ต้องการรวมจีนเป็นหนึ่งเดียวกันตามนโยบายจีนเดียว เพราะว่ามีจีนเดียวมาตั้งแต่อดีต แต่ไต้หวันไม่ได้คิดแบบนั้น เขาคิดว่าเป็นคนละประเทศกัน”

.

ข้อมูลอ้างอิง

  • กมลชนก โตสงวน (2562). เส้นทางประวัติศาสตร์การปกครองของประเทศจีน. วารสารปัญญาภิวัฒน์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมกราคม – เมษายน 2562. จาก https://so05.tci-thaijo.org/index.php/pimjournal/article/download/186319/130921/
  • BBC ไทย. จีน-ไต้หวัน : ความสัมพันธ์และความบาดหมางของสองชาติจากรากเดียวกัน. จาก https://www.bbc.com/thai/international-58773045
  • ศิลปวัฒนธรรม. “ซุนยัดเซ็น” ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐจีน. จาก https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_5221
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ราม โชติคุต อาจารย์ประจำสำนักวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : สัมภาษณ์

.

.

เรื่อง : ธันยชนก อินทะรังสี

เรียบเรียง : จิรฐา พฤฌิเศรษฐ์

ภาพ : Envato

บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Newsletter
Lorem ipsum dolor sit amet conse ctetur adipisicing elit, sed do eiusmod.