การออก ‘ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 พ.ศ. 2565’ ที่กำหนดให้ทุกส่วนของ ‘กัญชา’ ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด และสารสกัดกัญชาที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนาบินอล (Tetrahydrocannabinol : THC) จำนวนไม่เกิน 0.2% ก็ไม่ถือเป็นยาเสพติด ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่องจากการถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดพ.ศ. 2564 แล้ว ยังถือเป็นการ ‘ปลดล็อค’ ที่ส่งผลให้การใช้กัญชาในประเทศไทยสามารถทำได้โดยไม่มีข้อจำกัด
.
แต่การใช้กัญชาหลังจากประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ สามารถทำได้อย่าง ‘ไม่มีข้อจำกัด’ จริงหรือ ? แล้วอะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม หลังจากชาวไทยมีสิทธิเสรีที่จะใช้ ‘กัญชา’ ในแบบที่ไม่ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ หรือหวาดระแวงว่าจะทำผิดกฎหมายเหมือนที่เคยเป็นมา
.
สมุนไพรคู่สังคมไทย
.
“ช่วยลดเกร็ง ลดชัก พักใจจิต
ช่วยพักคิด สนิทนอน ผ่อนปวดหาย
ลดความดัน ผันโลหิต ปิดอันตราย
ตัวสั่นคลาย หายคลื่นไส้ สบายใจ”
.
ข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของบทประพันธ์ ‘โศกนาฏกรรมกัญชาสยาม’ ที่แต่งโดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ซึ่งเนื้อความชี้ให้เห็นถึงสรรพคุณทางยาของกัญชา ที่ช่วยลดอาการเกร็ง ผ่อนคลายจิตใจ ลดความดันโลหิต ลดอาการคลื่นไส้ เป็นต้น
.
กัญชาถือเป็นสมุนไพรคู่บ้านคู่เมืองของไทยมาช้านาน ในอดีตแพทย์แผนไทยแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาที่เฉลียวฉลาด กล่าวคือเมื่อรู้ว่ากัญชามีผลทำให้มึนเมา ตำรับยาแพทย์แผนไทยจึงใช้กัญชาจากหลายส่วน แทนที่จะใช้ส่วนดอกเพียงอย่างเดียว เพื่อลดความเข้มข้นของสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และใช้พริกไทยหรือพริกล่อน มาผสมในสัดส่วนที่สูงมาก ซึ่งตรงกับงานวิจัยในยุคปัจจุบัน ที่ค้นพบว่าพริกไทยมีสารสำคัญที่เรียกว่า พิเพอรีน (Piperine) ที่ช่วยให้การออกฤทธิ์ทางยาเพิ่มขึ้นอย่างมาก
.
สิ่งที่แสดงหลักฐานได้อย่างชัดเจน ว่ากัญชาเป็นพืชที่อยู่คู่กับชาวไทยมาช้านาน นั่นคือตำรับยา ‘อมฤตย์โอสถ’ ที่ระบุว่ามีกัญชาเป็นส่วนประกอบสำคัญมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่นี่ก็ยังไม่ใช่จุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์กัญชาสยามที่แท้จริง เพราะหากเราย้อนไปในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งที่ได้บันทึกภูมิปัญญาไทยในการใช้สมุนไพรไว้อย่างเป็นระบบ คือ ‘ตำราพระโอสถพระนารายณ์’ ซึ่งหมายความว่ากัญชาอยู่คู่กับแผ่นดินสยามมาไม่ต่ำกว่าสามร้อยปีแล้ว และตำรานี้ยังคงเป็นต้นแบบของแพทย์แผนไทยที่ใช้ในปัจจุบันอีกด้วย
.
สิ่งที่สำคัญอีกอย่างก็คือ กัญชาที่พบได้ในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นั่นคือสามารถปลูกกลางแจ้งได้ แตกต่างกับสายพันธุ์ฝั่งตะวันตกที่จำเป็นจะต้องปลูกในที่ร่ม หากต้องการปลูกต้องใช้ต้นทุนมากกว่าสายพันธุ์ไทยหลายเท่าตัว เรียกได้ว่าเป็นความโชคดีของชาวไทยเราอย่างแท้จริง ที่พืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้และใช้ต้นทุนมหาศาลในสหรัฐอเมริกา กลับสามารถปลูกและเลี้ยงดูได้ง่ายดายในประเทศไทย รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน
.
ยิ่งถ้าให้สาธยายถึงกัญชาในเชิงการแพทย์แผนปัจจุบันด้วยแล้ว ดูท่าพื้นที่ในบทความนี้น่าจะไม่เพียงพอ เพราะปัจจุบันแพทย์แผนปัจจุบันใช้กัญชารักษาโรคนานัปการ ไม่ว่าจะเป็น พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ หรือยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง เป็นต้น
.
‘กัญชา’ น่ากลัวจริงหรือ ?
.
เช่นนี้แล้วบางคนอาจมองว่าผู้เขียนมีความคิดที่เอนเอียงไปในทางยกความดีความชอบให้กัญชา แต่หากนำหลักฐานทางวิชาการมาเปรียบเทียบ จะเห็นได้ว่ายาเสพติดบนโลกนี้มีหลายชนิด โคเคน เฮโรอีน ยาบ้า ฝิ่น ถือเป็นยาเสพติดชนิดที่รุนแรง ขณะเดียวกันก็มียาเสพติดบางชนิดบนโลกที่ถูกผ่อนปรน เช่นเหล้าและบุหรี่ ซึ่งถือว่าเป็นสารเสพติดเช่นกัน แต่กลับไม่เคยอยู่ในบัญชียาเสพติดเลย ทั้งนี้เป็นเพราะความรุนแรงของการเสพติดในสารแต่ละชนิดนั้นไม่เท่ากัน
.
จึงเกิดคำถามว่าแล้วกัญชา ซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่ามีประโยชน์มหาศาลทางการแพทย์ แต่ก็มิวายเคยถูกจัดอยู่ในบัญชียาเสพติด ตกลงกัญชานั้นสามารถเสพติดได้จริงหรือไม่ ? และการเสพติดอยู่ในความรุนแรงระดับใด ?
.
มีงานวิจัยของสถาบัน Lippincott Williams & Wilkin สหรัฐอเมริกา ชื่อว่า The Cannabis Withdrawal Syndrome งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาเกี่ยวกับความรุนแรงในการถอนพิษกัญชาเมื่อเลิกใช้ ผลจากงานวิจัยพบว่า คนที่เคยเสพกัญชา เมื่อเลิกใช้กัญชาแล้วจะมีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย นอนหลับยาก เจริญอาหารน้อยลง มีความอยากใช้กัญชา กระสับกระส่าย ไม่ได้พักผ่อน อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้จะเป็นมากสุดในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์เท่านั้น ซึ่งอาการที่กล่าวมาข้างต้นนั้นคือความรุนแรงที่สุดเวลาเลิกใช้กัญชา จะว่าไปแล้วก็ไม่ได้รุนแรงไปกว่าการเลิกบุหรี่หรือเหล้าเลย และอาจรุนแรงน้อยกว่าคนที่ติดสุราเรื้อรังเสียอีกด้วยซ้ำ
.
ส่วนงานวิจัยหัวข้อ Diagnostic Criteria for Cannabis Withdrawal Syndrome ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Drug and Alcohol Dependence ว่าด้วยการศึกษาอัตราการเสพติดกัญชา ผลการวิจัยระบุว่า จำนวนผู้ที่ใช้กัญชานั้น มีความเสี่ยงสะสมที่จะเสพติดน้อยที่สุด โดยอยู่ที่ 8.9% เท่านั้น หากเทียบกับอัตราเสพติดสะสมของบุหรี่ (นิโคติน) และแอลกอฮอล์
.
สิ่งที่ข้อมูลจากงานวิจัยที่กล่าวมานี้บอกกับเราก็คือ หากเราศึกษาอย่างถ่องแท้ และมีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง บางสิ่งบางอย่างที่คนหวาดกลัวก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ใครเขาว่ากัน
.
ในสายตาผู้มาก่อนกาล
.
‘ก้อง’ ใช้กัญชาตั้งแต่ยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และในระหว่างที่ใช้ก็ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพืชชนิดนี้มาตลอด หลังจากที่มีการประกาศปลดล็อคให้ใช้กัญชาได้อย่างเสรี เขาเปิดกิจการขายกัญชาอย่างเต็มตัว และทำเงินจากพืชชนิดนี้ต่อเดือนมากกว่าผู้จัดการธนาคารบางสาขาเสียอีก
.
เนื่องจากมีความสนิทสนมกัน ผู้เขียนจึงขอสัมภาษณ์เขาในเรื่องดังกล่าว โดยในการสัมภาษณ์ ก้องขอไม่เปิดเผยตัวตนว่าเขาเป็นใคร เพราะเกรงว่าอาจจะมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน
.
เมื่อผู้เขียนถามว่าสำหรับเขาแล้ว กัญชาคืออะไร ช่วยนิยามสั้น ๆ ให้ฟังได้ไหม ประโยคที่ก้องตอบกลับมาสัมผัสใจผู้เขียนเป็นอย่างมาก เพราะไม่คิดว่าพืชชนิดหนึ่งจะมีความหมายต่อใครสักคนบนโลกมากขนาดนี้
.
“ไอ้คำว่านิยามเนี่ย มันเป็นการให้ความหมายของคำ ๆ หนึ่ง ถ้าใครสักคนจะให้นิยามของคำว่ากัญชา อาจจะนิยามว่าเป็นแค่พืชชนิดหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้วการนิยามเนี่ย มันมีความหมายที่ลึกซึ้งมากกว่านั้น เช่น หากจะให้คน ๆ หนึ่งนิยามว่าความรักคืออะไร ? หรือ ความดีคืออะไร ? แน่นอนว่าคำตอบเหล่านี้ค่อนข้างจะเป็นปัจเจกบุคคล ส่วนสำหรับผมแล้ว กัญชาเป็นมากกว่าพืชชนิดหนึ่ง มันเป็นทั้งวัฒนธรรม เป็นทั้งความสัมพันธ์ระหว่างพืชชนิดหนึ่งกับคนรอบข้างผม ดังนั้นสำหรับผม ขอนิยามกัญชาว่าคือวิถีชีวิต เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของผม”
.
ก้องบอกว่าเขายินดีและดีใจเป็นอย่างมาก ที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเห็นความสำคัญของกัญชาและเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับคนอีกมากมาย รวมทั้งย้ำเตือนว่า หากสนใจในพืชชนิดนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความรู้ ใครก็ตามที่คิดจะใช้กัญชาต้องรู้จักมันเสียก่อน ต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างถูกต้องก่อนเริ่มต้นใช้
.
เสรีกัญชาแบบ ‘แคนาดาโมเดล’
.
สิ่งที่ตามมาหลังการปลดล็อคและเปิดเสรีกัญชาในประเทศไทย คือการเกิดสุญญากาศทางกฎหมายในการกำกับดูแลเรื่องกัญชา ทุกอย่างเป็นไปอย่างเสรีจนอาจเลยขอบเขตของความเหมาะสม สถานการณ์สุญญากาศแบบนี้เป็นเรื่องที่ไม่ดีนัก เพราะทำให้เกิดตลาดกัญชาที่เสรีเกินควร มีโฆษณาชวนเชื่อมากมาย หรือมีบุคคลที่ใช้กัญชาอย่างผิดวิธี
.
การที่ไร้กฎหมายควบคุมเช่นนี้ ผู้ขายเองก็ไม่จำเป็นต้องสนใจกรรมวิธีการผลิตมากนัก ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงสุขลักษณะหรือความปลอดภัย ส่วนตัวผู้ใช้ก็ใช้ไปโดยไม่จำเป็นต้องใส่ใจต่อบุคคลรอบข้าง สถานการณ์เช่นนี้จะส่งผลแย่ต่อสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม หากทางรัฐบาลไม่มีมาตรการในการควบคุม
.
ถ้าหากภาครัฐไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง จับต้นชนปลายไม่ถูก อาจลองหยิบยืมแนวทางของต่างประเทศที่เขาประสบความสำเร็จมาเป็นแนวทางก็ได้ อย่างเช่นแคนาดา ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่เปิดเสรีกัญชาให้ใช้ในเชิงสันทนาการเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก และเสียงตอบรับจากประชาชนก็เป็นไปในทางที่ดี แต่กว่าที่แคนาดาจะเปิดให้ใช้กัญชาได้อย่างเสรี ก็ผ่านกระบวนการศึกษาวิจัยมาเป็นระยะเวลาถึง 17 ปีทีเดียว
.
วิธีการควบคุมกัญชาของแคนาดาถือว่าชัดเจนและรัดกุม ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการขาย ที่อนุญาตให้ผู้ประกอบการที่ผ่านมาตรฐานจากทางรัฐเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ในการขายกัญชา แน่นอนว่ามาตรฐานของทางรัฐก็สูงพอสมควร โดยร้านค้าต้องทำตามข้อกำหนด ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์ต้องเป็นไปตามรูปแบบที่กำหนด ให้ระบุปริมาณสาร THC และต้องเสียภาษีกัญชา
.
ส่วนการครอบครองมีข้อกำหนดว่า ในพื้นที่สาธารณะ ห้ามครอบครองกัญชาแห้งเกิน 30 กรัม ถ้าเป็นกัญชาสดต้องไม่เกิน 4 ต้น ถ้าแบบมีดอกห้ามเกิน 1 ต้น นอกจากนี้ยังสามารถกำหนดและจำกัดจำนวนใบอนุญาตร้านที่จำหน่ายกัญชาให้มีจำนวนที่สอดคล้องกับประชากรในพื้นที่ และห้ามวางจำหน่ายกัญชาหรือผลิตภัณฑ์ผสมกัญชาใกล้กับสถานศึกษา เป็นต้น
.
ข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกฎเกณฑ์ที่แคนาดาออกมาควบคุมดูแลการใช้กัญชา ซึ่งการควบคุมไม่เพียงแต่เพื่อความปลอดภัย แต่ยังมีข้อดีอีกหนึ่งอย่าง คือคุณภาพของสินค้าจะถูกยกระดับให้ได้มาตรฐาน ได้กัญชาคุณภาพดีเยี่ยมที่ผู้ใช้สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย
.
เสรีได้ แต่ต้องเข้าใจและมีกฎเกณฑ์
.
ผู้เขียนเองรู้สึกกังวลอยู่ไม่น้อยกับสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน ที่ดูเหมือนจะเปิดเสรีกัญชากันอย่างแพร่หลายแต่ไร้กฎหมายมาควบคุม ยิ่งเมื่อ ‘ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ….’ ต้องตกไปเพราะพิจารณาไม่ทันในสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา ก็เท่ากับว่าการใช้กัญชาในสังคมไทยจะยังคงเป็นเช่นนี้ไปจนกว่าเราจะมีสภาและรัฐบาลชุดใหม่ และมีการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อพิจารณา
.
แม้กัญชาจะไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยมากมายอย่างที่คิด ถึงกัญชาจะเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณมากมายในทางการแพทย์ แต่พืชชนิดนี้ก็มีผลข้างเคียงหากใช้โดยไม่มีความรู้หรือหากใช้โดยไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ อย่างเช่นเด็กและเยาวชนที่อาจยังไม่พร้อมในการตัดสินใจกระทำการสิ่งใด หากติดกัญชาแล้วจะเสียการเรียน เสียการเสียงานเอาได้ เพราะกัญชาในอีกทางคือสิ่งมอมเมาไม่ต่างกับสุรา เหมือนดาบสองคม แม้จะช่วยเรื่องความผ่อนคลายเมื่อใช้ในเชิงสันทนาการ แต่หากใช้มากเกินควรก็อาจทำให้เกิดอาการหลอนประสาทได้
.
ผู้เขียนจึงอยากให้คนที่คิดจะใช้กัญชาศึกษาให้ถี่ถ้วนถ่องแท้ มีความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงผลกระทบของกัญชาก่อนที่จะตัดสินใจใช้ เช่นเดียวกับภาครัฐที่ควรดำเนินการเรื่องการควบคุมและกำหนดกฎเกณฑ์อย่างจริงจัง จะได้ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบผู้ประกอบการ ขณะที่ผู้บริโภคเองก็สามารถใช้กัญชาและอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างยั่งยืน มีความสุขทั้งคนใช้ รวมไปถึงคนรอบข้างผู้ใช้ด้วย
.
มีดผ่าตัดหากอยู่ในมือหมอ มีดเล่มนั้นถือว่าเป็นสิ่งของมีค่าที่ช่วยเหลือชีวิตผู้คนได้ มีดทำครัวหากอยู่ในมือพ่อครัวทำอาหารฝีมือดี มีดเล่มนั้นสามารถเสกสรรอาหารรสเลิศได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นมีดผ่าตัดหรือมีดทำครัว หากตกไปอยู่ในมือคนชั่วหรืออาชญากร มีดเล่มนั้นก็สามารถคร่าชีวิตหรือทำร้ายใครสักคนได้เช่นกัน ฉะนั้นความสำคัญของมีดไม่ได้อยู่ที่ตัวมันเอง แต่มีดจะก่อให้เกิดประโยชน์หรือโทษ ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนถือ
.
‘กัญชา’ ก็เฉกเช่นเดียวกัน
.
ข้อมูลอ้างอิง
- ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ (2562). สุริยัน กัญชา อัมฤตย์โอสถแห่งความหวัง. พิมพ์ครั้งแรก : กรุงเทพฯ บุ๊ค ด็อท คอม
- Prevalence of Cannabis Withdrawal Symptoms Among People With Regular or Dependent Use of Cannabinoids. งานวิจัย
- มายาคติและความหมายเรื่องพืชกัญชาในสังคมไทย Myth and Meaning of Cannabis in Thai Society. สานิตย์ แสงขาม. วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
- กัญชาในวิถีชีวิตชาวไทยสมัยก่อน. วิชัย โชควิวัฒน สถาบันพัฒนาการคุ้มครองการวิจัยในมนุษย์ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ตึกกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
- Diagnostic Criteria for Cannabis Withdrawal Syndrome. วารสาร Drug and Alcohol Dependence
- ก้อง (ไม่ประสงค์ออกนาม) : สัมภาษณ์
.
.
เรื่อง : มูซอลลีน มะลิวัลย์
ภาพ : Envato
บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่