“ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้าง เป็นของมีค่า ผู้คนอดอยาก….” เสียงท่องบทอาขยานที่คุ้นเคยประดังสู่ประสาทหูทุกครั้งที่เราไปโรงเรียนในช่วงเวลาอาหารกลางวัน
.
เด็ก ๆ ต่างพร้อมใจกันท่องเสียงดัง ก่อนที่พวกเขาจะเริ่มรับประทานอาหาร บทอาขยานที่พวกเขาท่องนั้นเป็นดั่งเครื่องเตือนใจว่าอาหารตรงหน้า ต้องกินให้หมด อย่าให้เหลือทิ้งขว้าง
.
แต่มีเด็กบางคนที่รับประทานไม่หมดจริง ๆ อาจเพราะคุณครูตักข้าวเกินปริมาณที่เขารับประทาน หรือเพราะไม่ใช่เมนูโปรด จากอาหารส่วนหนึ่งที่เด็กรับประทานไม่หมด เมื่อรวมกับอาหารเหลือของคนทั้งโลกแล้ว อาหารเหล่านี้จะกลายเป็นขยะที่สร้างปัญหามากมายให้กับโลกใบนี้
.
ขยะอาหาร ปัญหาระดับโลก
.
‘Food Waste’ หรือที่เรารู้จักกันในนามของ ‘ขยะอาหาร’ คือ อาหารที่ถูกทิ้งด้วยหลาย ๆ เหตุผล ภาคครัวเรือนอาจทิ้งเพราะรับประทานไม่หมด ภาคอุตสาหกรรมอาจทิ้งเพราะหน้าตาอาหารไม่สวยงามตามเกณฑ์ รูปร่างที่ไม่ได้สัดส่วน หรือจำหน่ายไม่หมด ทั้งหมดนี้ถูกทิ้งรวมกันลงถังขยะและนำไปฝังกลบ ทั้งที่อาหารบางส่วนยังสามารถรับประทานได้
.
การฝังกลบเป็นวิธีจัดการขยะอาหารที่ง่ายที่สุด เนื่องจากขยะอินทรีย์สามารถย่อยสลายเองได้ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง เพียงแต่เมื่อขยะอาหารจำนวนมากทับถมกันแล้วถูกกลบด้วยดิน พวกมันจะใช้เวลานานกว่าปกติในการย่อยสลาย เนื่องจากในดินไม่มีออกซิเจนซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการย่อยสลายทางชีวภาพ อีกทั้งการย่อยสลายของขยะอินทรีย์ยังปล่อยก๊าซมีเทน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกถึง 8% เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคคมนาคม และมากกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการบินทั่วโลกถึง 4 เท่า โดยบทความ 25 Facts About Food Waste ขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อม (Earth.org) ระบุไว้ว่า ถ้าหากนับขยะอาหารเป็นประเทศ ประเทศขยะอาหารนี้จะเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจากจีนและสหรัฐอเมริกา
.
ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UNFAO) ระบุว่า ปัจจุบันอาหารที่ถูกทิ้งทั่วโลกมีมากถึง 1,300 ล้านตัน คิดเป็น 1 ใน 3 ของอาหารทั้งโลก ปริมาณดังกล่าว หากคิดเฉลี่ยต่อคนในหนึ่งปี เท่ากับว่าแต่ละคนทิ้งขยะอาหารมากถึงคนละ 180 กิโลกรัม หรือเท่ากับบะหมี่กึ่งสาเร็จรูป 3,300 ซอง ในขณะที่ 870 ล้านชีวิตต้องเผชิญความหิวโหยจากสภาวะอดอยากขาดอาหาร ซึ่งส่งผลต่อรายได้ทางเศรษฐกิจมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นับว่าเป็นตัวเลขจำนวนมหาศาลที่สูญเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์ในแต่ละปี
.
ผลกระทบจากขยะอาหารไม่ได้มีเพียงแค่ปัญหาความอดอยากของผู้คนหรือเม็ดเงินที่สูญเสียไปทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงระบบนิเวศน์ที่เสี่ยงต่อสุขภาพของคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารที่เกิดจากสิ่งสกปรกและแบคทีเรียหมักหมม หรือแม้แต่ก๊าซที่เกิดจากการหมักหมมก็ส่งผลให้เกิดอาการเวียนหัวได้
.
เพื่อลดปริมาณขยะอาหารลง แต่ละประเทศจึงมีวิธีการจัดการที่แตกต่างกัน ประเทศฝรั่งเศสออกกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านขยะอาหาร โดยบังคับให้บริจาคอาหารแทนการทิ้ง ขณะที่ประเทศเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับการลดปริมาณขยะอาหารในภาคครัวเรือนด้วยเทคโนโลยีการย่อยสลายขยะอาหาร ส่วนประเทศไทย แม้จะยังไม่มีกฎหมายเฉพาะด้าน แต่ก็มีหลาย ๆ องค์กรที่เล็งเห็นความสาคัญของปัญหาขยะอาหาร และหนึ่งในนั้นคือ ‘มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (Scholars of Sustenance: SOS)’
.
Scholars of Sustenance : ผู้พิทักษ์รักษ์อาหาร
.
มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) คือมูลนิธิไม่แสวงผลกำไรที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการนำอาหารส่วนเกินไปแจกจ่ายให้กับกลุ่มผู้เปราะบาง ชุมชนรายได้ต่ำ สถานที่พักพิของคนไร้บ้าน สถานสงเคราะห์ของรัฐ องค์กรพันธมิตร รวมไปถึงโรงพยาบาล
.
ดนุชา สมบัตินันท์ ผู้จัดการ SOS สาขาเชียงใหม่ เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของมูลนิธิว่า ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสังเกตเห็นอาหารเหลือจากบุฟเฟต์มื้อเช้าของโรงแรมที่ถูกทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย เพราะทางโรงแรมมีกฎว่าพนักงานไม่สามารถเอาอาหารกลับบ้านได้ เช่นเดียวกับร้านอาหาร หรือที่อื่น ๆ ต่างก็มีข้อบังคับนี้เพื่อรักษามาตรฐาน ผู้ก่อตั้งจึงได้แนวคิดในการตั้งมูลนิธิขึ้น เพื่อทำหน้าที่รับส่งอาหารส่วนเกินที่จะถูกทิ้งเป็นขยะจากผู้ประกอบการ แล้วนำไปสู่ผู้รับบริจาคที่จะได้รับประโยชน์จากอาหารเหล่านี้
.
มูลนิธิ SOS เริ่มต้นครั้งแรกที่กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2559 หลังจากประสบความสำเร็จจึงขยายสาขาไปยังภาคใต้ ที่จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามมาด้วยสาขาน้องใหม่ที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2564 โดยนับตั้งแต่ก่อตั้ง มูลนิธิสามารถกู้อาหารได้กว่า 16,410,000 มื้อ และแจกจ่ายอาหารไปแล้วมากกว่า 1,000 ชุมชนในประเทศไทย
.
จากอาหารส่วนเกิน สู่ ‘กล่องวิเศษ’ ประทังชีวิต
.
การทำงานของมูลนิธิ เริ่มจากการทำสัญญากับร้านค้า ฟาร์ม และโรงแรมต่าง ๆ จากนั้นจึงนำกล่องถนอมอาหารไปมอบให้สำหรับใช้ใส่อาหารส่วนเกินที่ขายไม่ได้ โดยมูลนิธิจะเรียกกล่องนี้ว่า ‘กล่องวิเศษ’ เพราะเป็นกล่องที่สามารถประทังชีวิตของคน ๆ หนึ่งได้เพิ่มอีกหนึ่งวัน
.
ในช่วงเช้า เมื่อได้รับข้อความจากผู้บริจาคว่าวันนี้มีกล่องวิเศษ สามารถเข้ามารับได้ ‘ผู้พิทักษ์รักษ์อาหาร (Food Rescue Ambassador)’ จะเริ่มวางแผนการเดินทางว่าจะไปรับกล่องวิเศษจากร้านไหนก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยประเมินว่าอาหารที่ได้มาควรนำไปบริจาคให้แก่ชุมชนใด
.
อาหารที่มูลนิธิได้รับบริจาคส่วนใหญ่เป็นเบเกอรี่ที่ขายไม่หมดในแต่ละวัน อย่างขนมปัง โดนัท บางครั้งก็ได้รับผักและผลไม้ต่าง ๆ ซึ่งเป็นอาหารที่ยังรับประทานได้ เพียงแต่หากทิ้งไว้รสชาติจะเปลี่ยน เมื่อรับอาหารมาแล้ว มูลนิธิจะบรรจุเข้ารถตู้เย็นและนำไปบริจาคในวันเดียวกัน และหากวันไหนมีเนื้อสัตว์ ทางมูลนิธิก็จะเก็บรวบรวมไว้ โดยทุก ๆ วันพุธจะมีกิจกรรม ‘ครัวรักษ์อาหาร’ ซึ่งเป็นการทำอาหารมื้อกลางวันร่วมกับอาสาสมัคร แล้วนำอาหารที่ทำออกไปแจกจ่ายให้แก่ชุมชน
.
หลังจากส่งต่ออาหารส่วนเกินไปยังชุมชนในแต่ละวัน ข้อมูลน้ำหนักของอาหารส่วนเกินที่ได้รับมาจะถูกบันทึก เพื่อคำนวณปริมาณคาร์บอนที่ลดลง จากการที่อาหารเหล่านั้นไม่ถูกนำไปฝังกลบ รวมทั้งคำนวนเป็นจำนวนมื้อเพื่อแจ้งให้ผู้บริจาคได้รู้ว่า อาหารที่พวกเขาเลือกนำมามอบให้มูลนิธิแทนการทิ้งนั้น สามารถประทังชีวิตของใครได้อีกหลายต่อหลายคน
.
“อาหารที่เรานำไปแจกจ่ายอาจจะไม่ดีต่อสุขภาพมากนัก มันมีทั้งแป้ง ไขมัน น้ำตาล แต่อาหารเหล่านี้ก็สามารถประทังความหิวให้กับหลาย ๆ คนได้” ดนุชากล่าว
.
‘เหลือดีกว่าขาด’ ต้นทางสร้างขยะอาหาร
.
‘เหลือดีกว่าขาด’เป็นค่านิยมที่สังคมไทยใช้กับหลาย ๆ เรื่อง รวมไปถึงเรื่องอาหารการกิน เรามักซื้ออาหารเกินกว่าปริมาณที่รับประทานไหว เมื่อรับประทานไม่หมด บางส่วนแบ่งเก็บไว้ในตู้เย็น แล้วเรามักจะลืมอาหารที่เก็บไว้ จนในที่สุดอาหารเหล่านั้นก็เน่าเสีย กลายเป็นขยะอาหารที่มีตู้เย็นเป็นดั่งที่พักชั่วคราวก่อนจะถูกนำไปทิ้ง
.
หากลองนึกดูดี ๆ แล้ว ปริมาณของอาหารที่เราซื้อเผื่อไว้ นอกจากเป็นการเสียของโดยใช่เหตุ ยังเป็นการเสียเงินเปล่า ๆ เพราะอาหารที่ทิ้งลงถังขยะนั้นก็นับเป็นเงินของเราทั้งหมด เพียงแต่เปลี่ยนจากเงินเป็นสิ่งที่รับประทานได้ วิธีแก้ไขขยะอาหารจากภาคครัวเรือน เบื้องต้นที่ง่ายสุดและสามารถเริ่มปฏิบัติได้เลย คือการวางแผนการซื้ออาหารและเช็ควันหมดอายุของอาหารที่ซื้อตุนไว้
.
ปัจจุบันมีเพียงมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ เท่านั้นที่สามารถรับอาหารที่เหลือจากร้านค้าและองค์กรต่าง ๆ และแจกจ่ายอาหารให้กับผู้ที่ต้องการ และเนื่องจากมูลนิธิเป็นภาคเอกชนที่รายได้หลักมาจากการบริจาค ทำให้ไม่สามารถกระจายสาขาออกไปทั่วประเทศได้ การจะหวังพึ่งพามูลนิธิในการจัดการขยะอาหารเพียงทางเดียวจึงเป็นเรื่องที่เกินกำลังของมูลนิธิ อีกทั้งมูลนิธิยังต้องเผชิญกับความเสี่ยง เพราะหากอาหารที่นำไปแจกจ่ายนั้นเสีย หรือเป็นสาเหตุทำให้ผู้ที่กินอาหารเจ็บป่วย ความผิดทั้งหมดจะตกอยู่กับมูลนิธิ แม้ว่าตั้งแต่ก่อตั้งมูลนิธิขึ้นมาจะยังไม่เคยพบเหตุการณ์ที่ว่านี้ก็ตาม
.
เมื่อทุกส่วนร่วมมือกัน ขยะอาหารจะหายไป
.
เมื่อศึกษากระบวนการจัดการอาหารขยะของต่างประเทศ พบว่าหลายประเทศที่เป็นต้นแบบด้านการจัดการขยะอาหาร ใช้นโยบายควบคุมปริมาณขยะอาหารโดยภาครัฐ
.
ตัวอย่างประเทศที่สร้างขยะอาหารภาคครัวเรือนมากที่สุด แต่สามารถจัดการอาหารขยะอาหารได้ดีที่สุดเช่นกัน คือเกาหลีใต้ ด้วยวัฒนธรรมที่นิยมรับประทานอาหารพร้อมเครื่องเคียงหลาย ๆ อย่าง ทำให้ปฏิเสธการเกิดขึ้นของขยะอาหารได้ยาก รัฐบาลจึงออกกฎหมาย ‘ยิ่งทิ้งขยะอาหารมากเท่าไหร่ ยิ่งจ่ายค่าทิ้งขยะอาหารมากเท่านั้น’ ส่งผลให้ประชาชนเคร่งครัดในการลดปริมาณขยะอาหาร จากเดิมที่ปริมาณการรีไซเคิลขยะอาหารของเกาหลีใต้มีเพียง 2% แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นถึง 95%
.
อีกหนึ่งประเทศต้นแบบที่มีดัชนีความยั่งยืนทางอาหารและโภชนาการ (Food and Nutrition Sustainability Index) เป็นอันดับหนึ่ง คือฝรั่งเศส ที่มีขยะอาหารถูกทิ้งจากร้านค้าราว 20 กิโลกรัมต่อวัน ขณะที่ผู้คนหลายกลุ่มต้องดิ้นรนหาอาหารประทังชีวิตในทุก ๆ วัน รัฐบาลจึงออกกฎหมายบังคับให้ร้านค้าบริจาคอาหารแก่ผู้ยากไร้แทนการทิ้ง และสร้างแรงจูงใจในการบริจาคอาหาร ด้วยการขอภาษีคืนได้ถึง 60% ของมูลค่าอาหารที่บริจาค
.
นอกจากการดาเนินการโดยรัฐแล้ว ภาคเอกชนก็มีบทบาทในการช่วยลดปริมาณขยะอาหารด้วยเช่นกัน สโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล มีแคมเปญ ‘Red Neighbors’ เพื่อสนับสนุนโครงการธนาคารอาหาร (Food Bank) ที่เล็งเห็นถึงปัญหาความอดอยากของคนในท้องถิ่น โดยทุกนัดที่ทีมลงทำการแข่งขันเกมเหย้าในพรีเมียร์ลีกที่แอนฟิลด์ สนามประจำสโมสร จะมีการเปิดรับบริจารอาหารที่บริโภคไม่ทันจากแฟน ๆ ของทีม แคมเปญนี้สามารถจัดสรรอาหารให้กับครอบครัวในลิเวอร์พูลเหนือได้ถึง 1,768 มื้อ คิดเป็น 20% ของการบริจาคตลอดทั้งปีที่โครงการธนาคารอาหารได้รับและนำไปช่วยเหลือคนในท้องถิ่น
.
การลดปัญหาขยะอาหารเป็นเรื่องง่าย และไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรือยุ่งยากเกินกว่าที่จะลงมือทำ ถึงอย่างนั้นการลงมือทำของภาคครัวเรือนหรือภาคเอกชนเพียงอย่างเดียว ก็ไม่สามารถทำให้ปัญหานี้ลดลงได้อย่างถาวร แต่ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐที่ควรมีนโยบายในการบริหารจัดการ เพื่อลดปัญหาขยะอาหารในประเทศไทยที่ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง
.
ขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน ไม่สามารถลดลงไปได้ในทันที แต่เราสามารถร่วมมือกันเพื่อลดปริมาณขยะอาหารได้ ด้วยการไม่ซื้ออาหารมาจนเกินจำเป็น พยายามใช้อาหารที่มีอย่างคุ้มค่า และแบ่งปันให้กับคนขาดแคลน
.
หรืออย่างน้อย แค่รับประทานอาหารให้หมดจาน เท่านี้ก็ช่วยโลกใบนี้ลดขยะอาหารได้อีกทางหนึ่งแล้ว
.
ข้อมูลอ้างอิง
- ดนุชา สมบัตินันท์ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) สาขาเชียงใหม่. สัมภาษณ์
- Scholars of sustenance (SOS). https://th.scholarsofsustenance.org/
- Earth.org. 25 Shocking Facts About Food Waste. จาก https://earth.org/facts-about-food-waste/
- สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI). ขยะอาหาร เรื่องใกล้ แต่ใหญ่กว่าที่คิด. จาก https://tdri.or.th/foodwaste/
- กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม. Food Waste ขยะอาหาร (E-Book). จาก https://eservice.deqp.go.th/e-book/37/
- Food Waste In Singapore. Case Study: South Korea. จาก https://blogs.ntu.edu.sg/hp3203-1920s1-u28/solutions/case-study-south-korea/
- มูลนิธิสืบนาคะเสถียร. ‘จัดการขยะอาหาร’ วาระแห่งชาติของฝรั่งเศส. จาก https://www.seub.or.th/bloging/news/%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%82%E0%B8%A2%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3-%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%81%E0%B8%AB/
- Liverpoolfc.com. Support matchday foodbank collections on Sunday. จาก https://www.liverpoolfc.com/news/community/319888-liverpool-fc-foodbanks-anfield
.
.
เรื่อง : ซูไรญา บินเยาะ, ธันยพร สุวรรณหงษ์, ธีรดา จิ๋วใสแจ่ม
ภาพ : Envato
บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่