คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Refill Store : ของหมดเติมได้ ช่วยโลกให้ไร้ขยะ

เมื่อเราซื้อผลิตภัณฑ์ใดก็ตามมาใช้ ใช้ไปแล้วก็ย่อมมีวันหมด สุดท้ายขวดบรรจุภัณฑ์ที่มีประโยชน์ในตอนแรกก็จะกลายเป็นขยะไร้ค่าและต้องทิ้งหรือกำจัดไป

.

แต่ถ้าลองคิดอีกแบบว่า เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์จนของข้างในหมดแล้วก็ ‘เติม’ สิ ขนาดรถเมื่อน้ำมันหมดก็ยังต้องมีการเติม ไม่ได้ทิ้งรถไปย่อยแล้วซื้อใหม่เสียหน่อย ดังนั้นถ้าของใช้หมดคุณก็สามารถเอาไปเติมผลิตภัณฑ์ด้านในได้

.

แล้วจะให้ไปเติมที่ไหนล่ะ ? เราจะพาคุณไปรู้จัก Refill Store ธุรกิจสีเขียวที่ให้บริการเติมผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน กับไลฟ์สไตล์ที่มุ่งลดการสร้างขยะพลาสติก ด้วยกาเตรียมภาชนะที่ใช้แล้วไปเติมแล้วเอากลับมาใช้ต่อเท่านั้น

.

Refill Store ธุรกิจช่วยลดขยะ

.

ถ้าคุณเป็นคนสายรักสิ่งแวดล้อมที่อยากใช้ชีวิตแบบ Zero Waste ไลฟ์สไตล์แบบสร้างขยะให้น้อยที่สุด เป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะไม่รู้จัก Refill Store

.

บทความ ‘Zero Waste ขยะเหลือศูนย์’ ของไทยรัฐออนไลน์ กล่าวถึง Zero Waste ไว้ว่า เป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้ชีวิตที่ไม่สร้างขยะ หรือสร้างขยะออกไปสู่สิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด โดยเน้นไปที่การลดการใช้พลาสติก การใช้ซ้ำ และการคัดแยกเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ โดยหัวใจหลักของแนวคิดนี้คือ ‘1A3R’ ซึ่งประกอบด้วย ‘Avoid’ การหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งที่ก่อให้เกิดขยะเพิ่ม เช่น พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ‘Reduce’ การใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดขยะให้น้อยที่สุด ‘Reuse’ การนำกลับมาใช้ใหม่ และ ‘Recycle’ การหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่

.

ขณะที่ Zero to Profit ให้คำนิยาม Refill Store ว่าคือร้านขายของชำแบบเติม ที่มีทั้งเครื่องใช้ต่าง ๆ อาหาร และเครื่องเทศ ที่ความพิเศษอยู่ตรงที่เราสามารถนำภาชนะจากบ้านไปใส่ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเองได้ ข้อดีของการใช้บริการ Refill Store คือการช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกและลดการสร้างขยะ นอกจากนี้เอกลักษณ์อีกอย่างของ Refill Store คือผลิตภัณฑ์ในร้านล้วนมาในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก มีส่วนผสมของสารเคมีในปริมาณที่น้อย และยังเป็นผลผลิตที่มาจากชุมชนท้องถิ่น เรียกได้ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย

.

จากข้อมูลข้างต้น ถ้าจะอธิบายแนวคิดของธุรกิจ Refill Store ก็คงจะได้แก่ “การไม่สร้างขยะพลาสติกเลย” โดยหลีกเลี่ยงการใช้ขยะที่ใช้แล้วทิ้งอย่างผลิตภัณฑ์แบบใช้แล้วเติม ซึ่งมักบรรจุมาในบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง บรรจุภัณฑ์เหล่านี้หากกลายเป็นขยะแล้วจะต้องใช้เวลาย่อยสลายยาวนานถึงหลักร้อยปี ดังนั้นถ้าคุณอยากจะเติมผลิตภัณฑ์ แทนที่จะซื้อขวดใหม่หรือซื้อแบบเติมมาใช้ ลองไปที่ร้าน Refill Store ดูก่อนดีกว่า เพียงแค่ถือขวดเปล่าไป ก็เท่ากับเป็นการ Reuse หรือการใช้ซ้ำแล้ว เป็นการสร้างขยะพลาสติกเพียง 1 ชิ้นในเวลา 1 ปี เมื่อคุณเปลี่ยนเป็นการใช้ซ้ำ หมดแล้วเติมใหม่ จากขยะชิ้นหนึ่งที่ดูไม่มีอะไรก็กลายเป็นของใช้ที่มีคุณค่าขึ้นมาได้

.

เพราะขยะพลาสติกยากที่จะกำจัด

.

“ร้าน Refill Store สำคัญขนาดนั้นเลยหรือ ?” หลายคนอาจจะมีคำถามนี้ในใจ แต่ถ้าคุณเป็นคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ใช้ถุงผ้า ลดการใช้ถุงพลาสติก หรือไปเข้าร่วมจิตอาสา เก็บขยะ และปลูกต้นไม้ ธุรกิจนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์สร้างขยะเป็นศูนย์

.

ในบทความเรื่อง ‘A Guide To Refill Stores’ จาก Country & Town House ระบุว่ามีขยะพลาสติกที่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลมากถึงร้อยละ 91 จากขยะพลาสติกทั้งหมด ซึ่งข้อเท็จจริงก็คือขยะพลาสติกไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้หมดทุกชิ้น ส่วนใหญ่จึงถูกนำไปฝังกลบ และมีขยะพลาสติกถูกส่งเข้าสู่กระบวนการจัดการอย่างถูกวิธีแค่ร้อยละ 19 เท่านั้น อีกทั้งพลาสติกยังเป็นวัสดุที่ใช้เวลาในหลุมฝังกลบนานถึง 450 ปีจึงจะย่อยสลายหมด เรียกได้ว่าทั้งกำจัดยากและเข้าสู่สิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมากอีกด้วย ส่งผลให้เกิดมลพิษทั้งทางดิน น้ำ และอากาศเลยทีเดียว

.

ลองคิดเล่น ๆ ว่า ถ้าคน 1 คนสร้างขยะพลาสติก 64.5 กิโลกรัมต่อปี เมื่อลองเอาขยะของคนทุกคนที่สร้างใน 1 ปีมากองรวมกันดู ปริมาณที่ได้แทบจะเท่ากับพื้นที่ 1 จังหวัดเลยทีเดียว นานวันเข้าขยะพลาสติกคงล้นโลก แต่ในทางกลับกัน หาก 1 คน สร้างขยะพลาสติกเพียง 1 กิโลกรัม เมื่อนำมากองรวมกันแล้วก็คงเป็นแค่เนินเขาเล็ก ๆ ยังเหลือพื้นที่ให้เดินและมีอากาศหายใจเพิ่มขึ้นอีก

.

ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้กันอยู่มีทั้งหมด 7 ชนิด ประกอบด้วย PETE/PET, HDPE, PVC, LDPE, PP, PS และอื่น ๆ โดยพลาสติกที่นิยมนำมาเป็นบรรจุภัณฑ์มากที่สุดคือ PEPT และ HDPE ซึ่งทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นเป้าหมายที่ธุรกิจ Refill Store ต้องการจะลดการใช้ให้ได้มากที่สุด

.

Refill Store ในเชียงใหม่

.

วิถีชีวิตแบบ Zero Waste มีแนวคิดหลักในการลดขยะพลาสติกในรูปแบบ Single Use ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และยังหาวิธีการกำจัดขยะชิ้นใหญ่อย่างบรรจุภัณฑ์จากสิ่งของเครื่องใช้ในบ้านอีกด้วย ซึ่งจุดนี้ทำให้เกิดร้านในรูปแบบ Bulk Store หรือร้านค้าแบบเติมขึ้นมา โดยในเชียงใหม่นั้นมีร้าน Refill Store อยู่ 3 ร้านด้วยกัน ได้แก่

.

Peace of Mind By ChiangmaiCotton เป็นร้านที่มีแนวคิดว่าอยากจะถ่ายทอดความเรียบง่ายและยั่งยืนของธรรมชาติ ภายในร้านมีสินค้าที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ งานฝีมือจากชาวบ้านท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์แฮนด์เมดจากวัตถุดิบธรรมชาติ และมีสเตชั่นสำหรับเติมผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน ซึ่งอยู่ในรูปแบบของสินค้าออร์แกนิกจากคนในพื้นที่ ตั้งแต่แชมพู สบู่ น้ำยาล้างจาน หรือแม้กระทั่งยาสีฟัน วิธีการคือนำภาชนะบรรจุไปเติมได้เองจากทางร้าน หรือถ้าไม่มีก็สามารถซื้อบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ใช่พลาสติกจากทางร้านได้เช่นกัน

.

River & Roads เป็นร้านของฝากน่ารัก ๆ ที่เริ่มต้นจากงานฝีมือของคนในพื้นที่ ภายในร้านจะมีมุม Foolfill Corner เป็นสเตชั่นสำหรับเติมผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ แชมพู และน้ำยาล้างจาน เป็นต้น โดยคุณสมบัติพิเศษของร้านนี้คือเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ มีการลดปริมาณของสารเคมี ถือเป็นสินค้าออร์แกนิกที่คนแพ้ง่ายก็สามารถใช้ได้ และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เรียกได้ว่านอกจากจะลดขยะพลาสติกได้แล้ว ยังสามารถลดปริมาณของสารเคมีที่จะออกสู่ธรรมชาติไปพร้อม ๆ กัน

.

Normal Shop สองร้านที่กล่าวไปก่อนหน้านี้จะเป็นธุรกิจของฝากที่มีสเตชั่นสำหรับเติมผลิตภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งของร้าน แต่สำหรับร้าน Normal Shop นั้นเป็นร้าน Refill Store โดยเฉพาะ ภายในร้าจะมีมุมเติมน้ำยาที่ใช้ในชีวิตประจำวันยาวจนสุดผนัง วางแยกเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นแชมพู สบู่ ครีมนวด น้ำยาล้างจาน และน้ำยาทำความสะอาด โดยน้ำยาแต่ละชนิดมีการปรับสูตรให้เป็นธรรมชาติจากวิสาหกิจชุมชน ลดสารเคมี ปลอดภัยสำหรับคนที่แพ้ง่าย รวมถึงเด็ก ๆ ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน

.

‘ร้านค้าแบบเติม’ ที่อยากช่วยลดขยะตั้งแต่ต้นทาง

.

Normal Shop ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นสถานที่สำหรับชุมชนลดขยะตั้งแต่ต้นทาง ในรูปแบบของร้าน Refill Store ที่เปิดแห่งแรกในเชียงใหม่ อีกทั้งยังมีการขยายสาขาไปยังกรุงเทพฯ และนครปฐมอีกด้วย

.

“แม้หลาย ๆ คนจะบอกว่าการทำให้ขยะเป็นศูนย์เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่สำหรับเรา Zero Waste เป็นคำสำคัญที่ช่วยเตือนใจให้เราสร้างขยะให้น้อยที่สุด และพยายามทำให้ขยะจากบ้านของเราส่งออกไปที่บ่อฝังกลบให้เป็นศูนย์ แนวคิดนี้มีความเป็นไปได้ถ้าทุกคนช่วยกัน” คุณกรวรรณ คันโธ เจ้าของร้าน Normal Shop พูดถึงแรงบันดาลใจในการเริ่มเปิดร้านแห่งนี้

.

คุณกรวรรณอธิบายว่าขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อให้ร้านเป็น Zero Waste Shop นั้นมีกระบวนการหลายอย่างมาก เช่น ต้องเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำได้ สะดวกในการเติมและการล้างทำความสะอาด มีความเหมาะสมกับสินค้า และมีขั้นตอนการจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ส่งมาจากผู้ผลิตมากกว่าร้านค้าทั่วไป “ในบางครั้งเราจะทำงานกับผู้ผลิต โดยช่วยเสนอการจัดส่ง การเปลี่ยนวัสดุและรูปแบบบรรจุภัณฑ์ไม่ให้เป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง มีการหมุนเวียนบรรจุภัณฑ์กับผู้ผลิต และทำงานกับหน่วยงานที่รับขยะ โดยเราจะส่งต่อขยะในส่วนที่ไม่ได้ใช้ให้กับหน่วยงาน ที่เราแน่ใจว่าเขาจะนำไปจัดการได้อย่างเหมาะสม”

.

Normal Refill เป็นมุมเติมผลิตภัณฑ์ของใช้ในบ้าน ที่ต้องการช่วยให้ทุกคนลดขยะประเภทบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ต้นทาง โดยสนับสนุนให้มีการนำภาชนะของตัวเองมาเติมที่จุดบริการ มีการหมุนเวียนใช้ซ้ำพลาสติกประเภทบรรจุภัณฑ์และช่วยป้องกันขยะหลุดรอดออกสู่ภายนอก ขณะที่สินค้าภายในร้าน Normal Shop เป็นสินค้าปะเภท Household, Body Care, Bio-Bright ที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไม่มีสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง อีกทั้งยังปลอดภัยต่อเด็ก สตรีมีครรภ์ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการลดมลภาวะทางน้ำจากผลิตภัณฑ์อีกด้วย

.

ส่วนวิธีการใช้บริการก็เพียงแค่นำขวดเปล่าจากบ้านที่ล้างจนสะอาดมาวางบนตราชั่งของทางร้าน กดปุ่ม On ก่อน ตามด้วยปุ่ม Tare อีกครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าน้ำหนักเป็นศูนย์ จากนั้นให้นำขวดดังกล่าวไปกดผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ แล้วนำกลับมาวางบนตราชั่งเพื่อตรวจสอบน้ำหนักที่บรรจุได้ โดยในขั้นตอนสุดท้ายจะต้องทำการสแกน QR Code ที่อยู่บนป้ายแขวนผลิตภัณฑ์ เพื่อกรอกปริมาณที่เติมได้แล้วกดชำระเงิน เพียงเท่านี้ก็เสร็จสิ้น

.

อนาคตของธุรกิจ Refill Store

.

จากบทความ ‘แชร์ไอเดียธุรกิจจากหลักคิด Refill Store’ ของธนาคารกรุงเทพ ได้นำเสนอ 6 แนวคิดที่คาดดว่าจะเป็นอนาคตของธุรกิจ Refill Store โดยพูดถึงการต่อยอดธุรกิจนี้ในรูปแบบอื่น ๆ นอกเหนือจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือน โดยในที่นี้จะขอยกตัวอย่างมานำเสนอ 3 รูปแบบด้วยกัน

.

ร้าน Refill อาหารสัตว์ เนื่องจากอาหารสัตว์เป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่บรรจุมาในถุงพลาสติก และเป็นที่ทราบกันดีสำหรับคนเลี้ยงสัตว์ว่า ใน 1 เดือนจะต้องมีการซื้ออาหารสัตว์หลายครั้งและหลายรสชาติเพื่อนำมาผสม เมื่อคำนวณดูแล้ว คนเลี้ยงสัตว์ 1 คนสร้างขยะพลาสติกต่อเดือนเป็นจำนวนมากกว่า 10 ถุง ดังนั้น Refill Store ในรูปแบบของอาหารสัตว์ก็เป็นอีกธุรกิจที่น่าสนใจ

.

ร้าน Refill ข้าวสาร ในรูปแบบร้านค้าที่เป็นศูนย์รวมข้าวทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียว ข้าวจ้าว ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี ข้าวหอมปทุม ข้าวตาแห้ง ข้าวดอย ข้าวกล่ำ ข้าวสังข์หยด และอีกมากมาย นอกจากในร้านจะมีข้าวหลากหลายชนิดแล้ว ข้าวภายร้านก็ต้องเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพและการคัดสรรข้าวที่เต็มเมล็ด นอกจากนี้ถ้ามีการสนับสนุนชาวนาตัวเล็ก ๆ ในชุมชนด้วย ก็จะเป็นร้านในอุดมคติเลยทีเดียว

.

ร้านฝากขายสินค้าจากสมาชิกในเครือ ไอเดียนี้เป็นความคิดของกลุ่มเกษตรกรที่มีการรวมกลุ่มเป็น Young Smart Farmer กับการนำผลผลิตจากเกษตรกรในกลุ่มมาวางจำหน่ายร่วมกันในร้านสมาชิก

.

ส่วนคุณกรวรรณในฐานะผู้ประกอบธุรกิจด้านนี้ ให้ความเห็นถึงอนาคตของธุรกิจ Refill Store ไว้ว่า “ในอนาคตธุรกิจนี้จะมีจำนวนคนที่สนใจเพิ่มมากขึ้น แต่ต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค และการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย”

.

ทางเลือกเพื่อโลกที่ดีกว่า

.

“ร้าน Refill Store แล้วดียังไง ? จำเป็นขนาดไหนกับชีวิตเรา ?” คือคำถามที่ผู้เปิดกิจการ Refill Store หลายคนต่างก็เคยเจอ หรือคนที่ใช้บริการนี้แล้วแนะนำต่อให้กับคนอื่น ก็มักจะต้องเจอคำถามเหล่านี้ย้อนกลับมาเช่นกัน

.

แม้ว่าคำว่า ‘ขยะเป็นศูนย์’ จะดูเป็นไปได้ยาก แต่การพยายามสร้างขยะให้น้อยที่สุดเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ถ้าทุกคนในสังคมช่วยกันคนละนิด เปรียบเหมือนทฤษฎีผีเสื้อขยับปีกกระทบถึงดวงจันทร์ ที่มีความเชื่อว่า สิ่งเล็ก ๆ ที่เราทำทุกวันที่บ้าน เมื่อทุกคนทำกันจนเป็นเรื่องธรรมดาก็จะส่งผลดีที่ยิ่งใหญ่

.

แน่นอนว่าเราไม่สามารถยัดเยียดหรือตีค่าว่าอะไรดีหรือไม่ดี เป็นเรื่องปกติบางคนจะยังไม่ข้าใจหรือไม่เห็นความสำคัญของ Refill Store เช่นเดียวกับคนที่สนใจแต่อาจจะยังไม่พร้อมในการเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตที่ตัวเองคุ้นเคย แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาของการก้าวเข้าสู่โลกของารเติม คุณสามารถถือพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งเข้าไปเติมผลิตภัณฑ์ที่ร้าน Refill Store ได้ทุกที่ โดยที่คุณจะได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นเสมอ เพราะสิ่งที่ร้านเหล่านี้ต้องการเสนอให้คุณคืออีกทางเลือกและส่งต่อความคิดเรื่องการลดขยะให้ปพร่หลายออกไปให้มากที่สุด

.

ถึงวันนี้คุณอาจยังไม่สามารถเลิกหรือลดการใช้พลาสติกได้ทันที แค่เพียงคิดอยากลดปริมาณการใช้ให้น้อยลง การเปลี่ยนแปลงตัวเองทีละนิดที่คุณทำไป สุดท้ายแล้วจะส่งผลดีต่อโลกใบนี้ได้อย่างแน่นอน

.

ข้อมูลอ้างอิง

  • กรวรรณ คันโธ เจ้าของร้าน Normal Shop : สัมภาษณ์
  • Charlie Colville. Country & Town House. A Guide to Refill Stores : The future of packaging-less shopping. จาก https://www.countryandtownhouse.com/food-and-drink/refill-stores-guide/
  • สุภัชญา เตชะชูเชิด. National Geographic. กว่าจะมาเป็น Refill Station ร้านค้าแบบเติมแห่งแรกของไทย เมื่อธุรกิจช่วยให้โลกน่าอยู่ขึ้น. จาก https://ngthai.com/sustainability/34070/refill-station/
  • ชาลิสา เมธานุภาพ. Greenery. 7 ร้านรีฟิลทั่วไทย ที่ช่วยให้สร้างขยะน้อยลง. จาก https://www.greenery.org/thai-bulk-stores/
  • เจ๊ดา วิภาวดี. ไทยรัฐออนไลน์. ทำความรู้จัก Zero Waste แนวคิดลดขยะเป็นศูนย์ ถึงเวลาหรือยัง ที่ต้องช่วยกัน. จาก https://www.thairath.co.th/news/society/1996244
  • โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย. ชนิดบรรจุภัณฑ์พลาสติก. จาก https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B9%8C%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95/
  • ธนาคารกรุงเทพ. แชร์ไอเดียธุรกิจจากหลักคิด Refill Store. จาก https://www.bangkokbanksme.com/en/refill-store-idea-business

.

.

เผยแพร่ครั้งแรก : Angkaew for Equality

เรื่อง : ไพลิน จิตรสวัสดิ์, นุชจรี โพธิ์นิยม

ภาพ : ไพลิน จิตรสวัสดิ์, สำนักข่าวอ่างแก้ว

บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Newsletter
Lorem ipsum dolor sit amet conse ctetur adipisicing elit, sed do eiusmod.