คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Green Market : พื้นที่ธุรกิจของคนรัก(ษ์)โลก

หากพูดถึง ‘สีเขียว’ เชื่อว่าหลายคนคงจะนึกถึงความเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติเป็นแน่

.

‘Green Market’ ถ้าแปลตรงตัวก็คือ ‘ตลาดสีเขียว’ เป็นตลาดแหล่งขายสินค้าที่มีการจัดการแบบช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการสร้างขยะให้กับโลก และเลือกใช้ทรัพยากรที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นของกินหรือของใช้ที่สามารถปรับให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยโลกได้

.

ว่าแต่ตลาดจะสามารถช่วยสิ่งแวดล้อมได้จริงหรือ ? แล้วจะช่วยได้อย่างไร ? มาเปิดโลกของ Green Market พร้อมทั้งรู้จักแหล่งช้อปสินค้ากรีน ๆ ในจังหวัดเชียงไปพร้อม ๆ กัน

.

Green Market กับภารกิจ ‘ช่วยโลก’

.

ทุกวันนี้โลกเต็มไปด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็มาพร้อมกับปัญหาที่เราต้องพบเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศที่แปรเปลี่ยนอย่างหวนกลับคืนได้ยาก หรือทรัพยากรธรรมชาติที่ลดลงอย่างน่าเป็นห่วงสำหรับคนรุ่นหลัง

.

แน่นอนว่าการจะช่วยลดโลกร้อนได้นั้น สิ่งที่ควรทำคือลดการใช้ ใช้ให้น้อย และใช้เท่าที่จำเป็น แต่แนวคิดที่ว่าก็สวนทางกับโลกของธุรกิจที่ต้องการให้มีการซื้อขายจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้จึงก่อให้เกิด Green Market ที่ดำเนินการภายใต้แนวคิด Zero Waste หรือแนวทางการจัดการกับขยะให้เป็นศูนย์ แม้ว่าจะเป็นไปได้ยากที่จะทำให้ไม่เกิดขยะเลยภายในตลาด แต่ Green Market อาศัยการปรับเพื่อให้ขยะลดลงกว่าตลาดปกติ เช่น การมีมาตรการให้คนซื้อนำภาชนะมาเอง หรือการลดใช้พลาสติกแล้วหันมาใช้วัสดุจากธรรมชาติ เช่น ใบตอง ถุงกระดาษ ทดแทน

.

เมื่อตลาดเป็นสีเขียวแล้ว สินค้าภายในตลาดย่อมต้องคุมโทนให้เป็นผลิตภัณฑ์สีเขียวให้มากที่สุดด้วย การคุมโทนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสี แต่หมายถึงกระบวนการผลิต ทรัพยากรที่นำมาใช้ผลิต และกระบวนการซื้อขายของสินค้านั่นเอง ปัจจุบันมีธุรกิจ SME จำนวนมากที่ผลิตสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นของกินหรือของใช้ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Green Product เช่น ผักออร์แกนิก ที่มีการปลูกแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี หรือของใช้ออร์แกนิก ที่นอกจากจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค

.

ช่องว่างทางสังคมกับการซื้อสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม

.

ตลาดสีเขียวสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งกันเองของชุมชน ชาวบ้าน หรือมีนายทุนมาจัดโครงการขึ้นโดยเฉพาะ และรวบรวมสินค้าเพื่อคนรักษ์ธรรมชาติมาไว้ที่นี่ อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของตลาดสีเขียวก็มีเรื่องของช่องว่างทางสังคมของคนแต่ละกลุ่มเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

.

อย่างแรกคือเรื่องที่ตั้งของตลาด ตลาดสีเขียวจะมีทั้งตลาดที่อยู่ในชนบทกับตลาดในเมือง โดยตลาดสีเขียวในชนบทนั้น อาจกล่าวได้ว่าก็เหมือนกับตลาดทั่วไป ที่ชาวบ้านนำเอาของที่ทำเองหรือผักปลอดสารมาขาย ส่วนตลาดสีเขียวในเมือง เป็นตลาดที่มีการจัดตั้งขึ้น เพื่อให้คนในเมืองเข้าถึงแหล่งซื้อขายสินค้าที่มีความเป็นท้องถิ่นได้สะดวก

.

อีกเรื่องหนึ่งคือทัศนคติในการซื้อและขายสินค้า คนชนบทที่ไม่ได้มีรายได้มากนัก ก็จะใช้สินค้าทั่วไปที่หาซื้อได้ง่าย ราคาถูก แต่สินค้าที่เป็นออร์แกนิก นอกจากผักปลอดสารแล้ว ส่วนใหญ่จะมีราคาสูง เพราะเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นเอง หรือมีกระบวนการผลิตที่ยากกว่าสินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป ขณะที่คนที่มีรายได้มั่นคงและหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะบริโภคสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนชนบท ช่องว่างระหว่างฐานะทางการเงินจึงกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมกลายเป็นสินค้าเพื่อคนเฉพาะกลุ่ม และการจะเป็นผู้บริโภคสีเขียวอย่างเต็มตัวนั้น แลกมาด้วยราคาที่ต้องจ่ายมากกว่าปกติ

.

จากปัจจัยที่กล่าวมา ทำให้ปัจจุบันตลาดสีเขียวจำกัดลูกค้าอยู่เพียงแค่กลุ่มผู้รักสุขภาพและรักษ์สิ่งแวดล้อม เนื่องจากผลผลิตที่ออกมามีน้อยแต่ต้องอาศัยการดูแลมาก ทำให้ราคาสูง แต่ถ้ามีผู้สนใจจับจ่ายซื้อของในตลาดสีเขียวเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้มีผู้ผลิตผลิตสินค้าออกมาขายมากขึ้น ราคาก็จะถูกลง รวมทั้งมีพื้นที่ในการพบปะกันมากขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับผู้มีหัวใจสีเขียวได้เลือกซื้อของกันอย่างสบายใจ เพราะสินค้าที่ไม่เป็นพิษภัยกับผู้ซื้อ ผู้ขาย สิ่งแวดล้อม และโลกใบนี้ ใคร ๆ ก็อยากได้ทั้งนั้น

.

ตลาดสีเขียวกับการส่งเสริมชุมชน

.

Green Market ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในชุมชนหรือที่อยู่ตามห้าง ได้หันมาใส่ใจกับผลิตภัณฑ์จากชุมชนมากขึ้น แทนที่จะมองหาแหล่งผลิตใหญ่ ๆ เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่มาจากฝีมือของคนในท้องถิ่นแล้ว ตัวผลิตภัณฑ์ยังมีความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชนอีกด้วย

.

นอกจากนี้การเกิดตลาดสีเขียวยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ทางธุรกิจให้กับชุมชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงคือการที่ชุมชนได้นำเสนอสินค้าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนผ่านตลาด ทำให้รายได้เข้าสู่ชาวบ้านโดยตรง ส่วนทางอ้อมก็คือการที่ผู้คนจากที่อื่น ๆ จะได้รู้จักพื้นที่นั้น ๆ มากขึ้น และบางที่ส่งผลให้เกิดการท่องเที่ยวตามมา

.

คุณดวงกมล มังคละคีรี ผู้จัดการตลาดฉำฉา ให้ความเห็นว่าการทำตลาดและการสร้างความร่วมมือกับชุมชน เป็นสิ่งที่ต้องทำไปพร้อม ๆ กัน “คือแต่ละบ้าน เขาจะมีผลิตภัณฑ์ของเขาอยู่แล้ว เราแค่เป็นอีกแรงที่ทำให้เขามีรายได้ คือถ้ามันมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวตลาด อย่างน้อยก็มีคนได้เห็นสินค้า ได้รู้จักร้านค้า ซึ่งตัวเราเองก็มั่นใจว่าตัวสินค้าของทุกบ้าน มีคุณภาพมากพอที่ลูกค้าจะซื้อ”

.

ขณะที่งานวิจัยเรื่อง แนวโน้มนวัตกรรมการสื่อสารการตลาดเพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ระหว่างปี 2558 – 2567 ของ กนกพร ดิษริยะกุล ได้กล่าวไว้ว่า “ร้านที่เป็นแหล่งเชื่อถือของชุมชนหรือคนหมู่มากนั้น จะมีแนวโน้มทำการตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อมจริง ๆ มากกว่าร้านที่กระจายอยู่ในตลาด” ดังนั้นการที่ภาคธุรกิจจับมือกับชุมชน จึงเป็นส่วนที่ช่วยให้ชุมชนมีพื้นที่ในการเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น

.

อย่างไรก็ตาม การยื่นมือเข้ามาช่วยที่ว่าต้องเป็นไปอย่างโปร่งใสและ ไม่ฉาบฉวย เนื่องจากชุมชนมีความเกี่ยวข้องกับ Green Business เป็นอย่างมาก เพราะชุมชนคือรากฐานของการผลิตต่าง ๆ รวมถึงภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งสำหรับ Green Business นอกจากจะให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังให้คุณค่ากับภูมิปัญญาชาวบ้านอีกด้วย แต่เนื่องจากรูปแบบการทำมาหากินที่เปลี่ยนแปลงไป การนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาพัฒนาให้เป็นเศรษฐกิจชุมชนและสร้างรายได้ จึงเป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่ต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนชุมชนอย่างจริงจัง

.

รู้จักแหล่ง Green Market ในเชียงใหม่

.

เมื่อพูดถึงการเดินทางขึ้นเหนือมาที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าออกกันเป็นจำนวนมาก เชื่อว่าผู้คนส่วนใหญ่ล้วนอยากมาสัมผัสบรรยากาศ กลิ่นอายความเป็นเมืองเหนือ กลิ่นภูเขา กลิ่นธรรมชาติ และประเพณีวัฒนธรรมของที่นี่

.

และเมื่อพูดถึงแหล่งช็อปสายกรีนในจังหวัดเชียงใหม่ ก็ต้องบอกว่าที่นี่มี Green Market อยู่หลายแหล่ง ซึ่งเราขอนำบางที่มาเสนอให้ให้ได้รู้จักกัน เผื่อใครที่กำลังมองหา Green Market ในเชียงใหม่จะได้ทำเช็คลิสต์ไว้ว่ามาที่นี่แล้วควรจะต้องแวะไปที่ไหนกันบ้าง

.

เริ่มกันที่ ‘กาดจริงใจ’ บนถนนอถนนอัษฎาธร ที่นี่มีตลาดเช้าที่จะจัดขึ้นทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 06.30 – 13.00 น. กาดจริงใจเป็นตลาดนัดที่มีการจัดการอย่างเป็นระเบียบ มีทั้งของกิน เช่น ร้านผักออร์แกนิกที่ชาวบ้านปลูกเอง ร้านอาหารพื้นเมือง และของใช้ เสื้อผ้า ของแฮนด์เมดต่าง ๆ ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นงานคราฟต์ สนับสนุนการสร้างรายได้และความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนของชุมชน

.

ที่ต่อมา ‘กาดฉำฉา’ ในอำเภอสันกำแพง เป็นกาดนัดที่จัดขึ้นในวันเสาร์และอาทิตย์เพื่อให้คนมาเที่ยวพักผ่อนในวันหยุด โยมีเอกลักษณ์คือตลาดจะตั้งอยู่ภายใต้ต้นฉาฉาทั้งหมด 3 ต้น ด้านสินค้าภายในตลาดมีทั้งของกินและของใช้เช่นเดียวกับกาดจริงใจ แต่มีความเป็นสายกรีนที่ผู้ซื้อสามารถนาภาชนะมาใส่อาหารที่ตัวเองซื้อได้ เพื่อลดการใช้พลาสติกให้มากที่สุด

.

ที่สุดท้ายที่นำมาแนะนำคือ ‘กาดข่วงเกษตรอินทรีย์’ ที่ตั้งอยู่บนถนนเลียบคลองชลประทาน ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่นี่เปิดทุกวันอังคาร พฤหัสบดี และเสาร์ ตั้งแต่เวลา 14.00 – 18.00 น. เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรของชาวบ้าน ผักผลไม้ตามฤดูกาล และของแปรรูปต่ง ๆ นอกจากนี้ยังมีผักพื้นบ้านมากมายให้เลือกซื้ออีกด้วย

.

ก้าวต่อไปของ Green Market

.

ปัจจุบันผู้คนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น เพราะผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดความตระหนักอย่างจริงจัง และเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในอนาคต เช่นเดียวกับภาคธุรกิจที่หันมาให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ใช่แค่การแอบอ้างว่าผลิตภัณฑ์ของตัวเองนั้นรักโลก แต่ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

.

เช่นเดียวกับ Green Market ที่มีเพิ่มมากขึ้น แต่อาจจะยังเรียกว่าเป็นตลาดสีเขียวได้ไม่เต็มตัว หากมองในมุมของการจัดการกับขยะ เพราะต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยังเลี่ยงได้ยากที่จะไม่ใช้พลาสติก หรือการแยกขยะภายในตลาดก็เป็นเรื่องที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป

.

ในฐานะของคนที่ทำงานด้านตลาดสีเขียว คุณดวงกมลให้ควมเห็นว่าการทำงานกับปัจเจกชนเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยาก และต้องอาศัยเวลาในการสร้างความเข้าใจ “เรื่องนี้มันอยู่ที่คนด้วย ไม่ใช่อยู่ที่ตลาดฝ่ายเดียว ถึงตลาดจะออกกฎมาบังคับ แต่บางคนก็ยังแอบใช้พลาสติกก็มี ก็อยากให้เขาเข้าใจถึงข้อดีของการรักษาสิ่งแวดล้อมจริง ๆ ก็ค่อย ๆ ทำไป ในอนาคตการจัดการก็คงจะดีขึ้น”

.

การก่อเกิดของตลาดสีเขียวเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยให้ผู้คนและโลกใบนี้ได้พึ่งพาซึ่งกันและกันแบบยั่งยืน ในอนาคตตลาดธรรมดาอาจมีมาตรการเหมือนกับตลาดสีเขียว และกลายเป็นการสร้างความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมได้โดยทั่วกัน

.

เช่นดียวกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่ได้นำความรู้ความสามารถมาต่อยอดเพื่อผลิตสินค้าที่ดีต่อโลกใบนี้ หากนำสินค้าที่เป็น Green Product ไปวางจำหน่ายท่ามกลางสินค้าทั่วไป ถึงจะสร้างความโดดเด่นแต่อาจจะไม่ชวนให้ซื้อ เพราะผู้บริโภคอาจจะมองว่าราคาแพง และมีตัวเลือกอื่นที่คุ้มค่ามากกว่า แต่ถ้าหากสินค้าประเภทนั้นมาอยู่ใน Green Market ก็เปรียบเสมือนชุมชนหนึ่งที่ผู้คนมีความสนใจร่วมกัน สินค้านั้นก็จะสร้างคุณค่าให้กับตัวเองได้มากขึ้น

.

การทำตลาดสีเขียวไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าทำได้ นอกจากจะเป็นแหล่งธุรกิจที่สร้างประโยชน์ทั้งต่อผู้ซื้อและผู้ขายแล้ว ตัวพื้นที่ยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ถือเป็นการส่งผลเชิงบวกในระยะยาวให้กับโลกใบนี้อีกด้วย

.

ข้อมูลอ้างอิง

  • ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP (2565). ผลิตภัณฑ์สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม. จาก http://www.sptn.dss.go.th/otopinfo/index.php/en/knowledge/informationrepack.
  • กนกพร ดิษริยะกุล (2556). แนวโน้มนวัตกรรมการสื่อสารการตลาดเพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ระหว่างปี 2558 – 2567. จาก http://gscm.nida.ac.th/uploads/files/1598426659.
  • อาจารย์ ดร. ธนภูมิ, อาจารย์ ดร.ล่าสัน เลิศกูลประหยัด, อาจารย์รสิตา สังข์บุญนาค (2555). แนวทางการพัฒนาตลาดนัดสีเขียวสาหรับคนเมือง. จาก https://ir.swu.ac.th/jspui/bitstream/123456789/2635/2/Tanaphoom_A_R417851.
  • คมศักดิ์ สว่างไสว (2559). ธุรกิจสีเขียว. จาก https://progreencenter.org/2016/02/09/
  • Anupam Pareek , Neha Mathur (2020). GREEN MARKETING : A SUSTAINABLE CHANGE IN MARKET. จาก https://www.researchgate.net/publication/351658998_GREEN_MARKETING_A_SUSTAINABLE_ CHANGE_IN_MARKET
  • ดวงกมล มังคละคีรี ผู้จัดการตลาดฉาฉา : สัมภาษณ์

.

.

เรื่อง : ปัทมพร อิ่มขันต์

ภาพ : Sam Lion on Pexels

บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Newsletter
Lorem ipsum dolor sit amet conse ctetur adipisicing elit, sed do eiusmod.