‘การขายบริการทางเพศ’ ขึ้นชื่อว่าเป็นอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ปัจจุบันคนที่ประกอบอาชีพนี้ ส่วนหนึ่งทำงานอย่างถูกกฎหมาย แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีคนอีกมากมายในอาชีพนี้ที่ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
.
และหนึ่งในนั้นคือสังคมไทย ที่อาชีพขายบริการทางเพศยังถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายและถูกตีตราว่าเป็นอาชีพที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม
.
ปัจจุบันที่สังคมกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงและตระหนักถึงการให้ความสำคัญในเรื่องความเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพทางเพศ และสิทธิการประกอบอาชีพ ทำให้เราได้เห็นภาพการเรียกร้องความเท่าเทียมของผู้ที่ประกอบอาชีพการขายบริการทางเพศมากขึ้น เพราะพวกเขาได้รับผลกระทบจากการที่สังคมไม่ยอมรับอาชีพขายบริการทางเพศ โดยมองเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรมและกฎหมาย ขณะที่ภาครัฐก็ไม่มีกฎหมายที่ช่วยดูแลการทำงานและสวัสดิการให้กับพวกเขา ส่วนกฎหมายที่มี ก็ดูจะเป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์จากคนเหล่านี้ มากกว่าที่จะควบคุมดูแลหรือปราบปราม
.
ด้วยเหตุนี้การขายบริการทางเพศจึงเป็นอาชีพที่ตกอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงในหลาย ๆ ด้าน กลายเป็นสิ่งที่มีอยู่แต่ไม่มีใครยอมรับ ไม่มีกฎเกณฑ์ในการควบคุมดูแลที่ชัดเจน และเป็นอาชีพที่แสวงหาผลประโยชน์จากหลาย ๆ ฝ่าย แต่ตัวผู่ที่ทำอาชีพนี้เอง กลับไร้ซึ่งการดูแลหรือหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต
.
กฎหมายที่มองคนไม่เท่ากัน ?
.
คุณรู้หรือไม่ว่าสังคมไทยเคยยอมรับการค้าประเวณีเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ?
.
ในอดีตช่วงปี พ.ศ.2411-2503 เคยมีการเก็บ ‘ภาษีบำรุงถนน’ โดยให้ผู้ค้าประเวณีจ่ายภาษีให้กับรัฐ เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการเก็บภาษีเพื่อนำมาสร้างถนนเพื่อขยายเมืองนั่นเอง สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐรับรู้ว่ามีการประกอบอาชีพขายบริการทางเพศในสังคม และยังได้รับประโยชน์จากการประกอบอาชีพดังกล่าวในรูปแบบของภาษีด้วย
.
ต่อมาเมื่อองค์การสหประชาชาติมีนโยบายรณรงค์ให้ความสำคัญกับผู้หญิงและเด็ก ทำให้ในปี พ.ศ.2503 ประเทศไทยได้ออก ‘พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503’ ภายใต้แนวคิดที่ว่าการค้าประเวณีเป็นอาชญากรรม หรือผิดกฎหมาย ทำให้อาชีพขายบริการถูกมองว่าเป็นอาชญากรและมีบทลงโทษจำคุกอย่างชัดเจน
.
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกฎหมายดังกล่าว แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีได้หมด จึงมีการออก ‘พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539’ ออกมาใช้แทน แม้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมองผู้ค้าประเวณีว่าเป็น ‘เหยื่อ’ ที่ควรต้องได้รับการดูแล แต่ในขณะเดียวกันก็มองว่าผู้ค้าประเวณีนั้นเป็นผู้ด้อยสติปัญญาและการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสามารถตั้งคำถามได้ว่า กฎหมายนี้ถูกตราขึ้นมาโดยยึดหลักความเท่าเทียมแล้วหรือยัง เพราะแม้แต่ในระบบกฎหมายที่ควรพิทักษ์สิทธิ์ของประชาชน ก็ยังมองประชาชนบางกลุ่มไม่เท่ากันแต่อย่างใด
.
Sex Worker ที่ไม่ได้มีแค่การสอดใส่
.
การมีกฎหมายออกมาป้องกันและปรายปรามการค้าประเวณี ในด้านหนึ่งเป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ว่าเป็นผลมาจากค่านิยมของสังคม รวมถึงการมองใแง่มุมด้านศีลธรรมที่เชื่อว่าอาชีพนี้ขัดกับสีลธรรมอันดีที่คนในสังคมควรยึดถือ
.
แต่ในยุคปัจจุบันที่คนหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมมากขึ้น รวมทั้งตั้งคำถามกับค่านิยมหรือมาตรฐานทางศีลธรรมบางอย่างที่กระทบกับสิทธิหรือความเท่าเทียม จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจว่าการเลือกตีตราว่าการค้าประเวณีหรือการขายบริการทางเพศเป็นสิ่งที่ ‘ผิด’ นั้นยังสมเหตุสมผลอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะในวันเวลาที่บริการทางเพศอาจก้าวไปไกลมากกว่าที่หลายคนเคยเข้าใจ
.
ศิริศักดิ์ ไชยเทศ หรือคุณต้น นักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานด้านความหลากหลายทางเพศ อธิบายในประเด็นนี้ว่า เมื่อพูดถึงผู้ให้บริการทางเพศหรือ Sex Worker เชื่อว่าความหมายแรกในหัวของหลายคน คงจะหนีไม่พ้นอาชีพที่ต้องมีการบริการและการร่วมเพศเกิดขึ้น
.
“จริง ๆ แล้ว Sex Worker ไม่ได้จำเป็นจะต้องมีการร่วมเพศและสอดใส่เสมอไป เพราะในปัจจุบันอาชีพนี้คืองานบริการที่ใช้เรื่องเพศเป็นตัวดึงดูด หรือเริ่มต้นในการบริการโดยใช้เนื้อตัวร่างกาย มีทั้งแบบการเจอกันต่อหน้า อย่างเช่น เด็กเอ็น เด็กนวด หรือผ่านทางออนไลน์ อย่างอาชีพ Content Creator ที่ผลิตเนื้อหา 18+ เหล่านี้ก็ถือว่าเป็น Sex Worker ด้วยเช่นกัน”
.
สังคมปิดตาข้างเดียว
.
ผลการสำรวจของเว็บไซต์ Havescope ชี้ว่าอุตสาหกรรมทางเพศในไทยสร้างรายได้ประมาณ 6.4 พันล้านดอลลาร์ต่อปี แต่เพราะการค้าบริการทางเพศในไทยเป็นอาชีพที่ผิดกฎหมาย จึงไม่ถูกนำมาคิดรวมใน GDP ของประเทศ
.
ทั้งที่อาชีพดังกล่าวสามารถสร้างรายได้ให้มากขนาดนี้ แต่รัฐไทยก็ยังคงไม่ยอมรับการมีอยู่ของอาชีพ Sex Worker
.
และด้วยการที่เรามี พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ทำให้มีบ่อยครั้งที่เราได้เห็นข่าวการลงพื้นที่ตรวจสอบหรือจับกุมการค้าประเวณีในย่านท่องเที่ยวดัง ๆ หลายแห่ง แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่รัฐกลับให้ข้อมูลว่าไม่พบการค้าประเวณี ทั้งที่ทุก ๆ คนก็รู้อยู่แก่ใจดีว่าความเป็นจริงนั้นคืออะไร
.
ในตอนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ คุณต้นกล่าวว่าพนักงานขายบริการในไทยมีอยู่ประมาณ 3 แสนคน ทั้งการทำงานในบาร์เบียร์และสถานบันเทิงต่าง ๆ หรืออย่างที่ถนนท่าแพ ถนนสายสำคัญสายหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ก็ยังมีหญิงขายบริการให้เห็นอยู่ แต่การที่มี พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำตามหน้าที่ตามกฎหมาย และบางครั้งก็เลยเถิดไปเป็นการแสวงหาผลประโนชน์จากผู้ที่ประกอบอาชีพเหล่านี้
.
คุณต้นอธิบายว่าตำรวจจะมีทำเนียบรายชื่อและเบอร์โทรติดต่อศัพท์หญิงขายบริการอยู่ และสามารถจะเรียกเก็บส่วยได้ทุกเมื่อ ขณะที่ฝั่งหญิงขายบริการอยู่ในสถานะไม่มีทางเลือก เพราะหากไม่จ่ายก็จะถูกจับกุมในข้อหาค้าประเวณี ซึ่งเป็นกฎหมายอาญาที่คดีจะติดตัวไปตลอด หญิงขายบริการจึงเลือกจะจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่วันละ 2-3 ร้อยบาทเพื่อเลี่ยงการมีคดีติดตัว กลายเป็นว่ากฎหมายที่มีไม่ได้ออกมาเพื่อปราบปรามอย่างจริงจัง แต่กลับเป็นช่องโหว่ให้เจ้าหน้าที่รัฐบงคนสร้างรายได้เข้ากระเป๋าของตัวเองอย่างไม่เป็นธรรม
.
“อย่างในช่วงโควิดที่มีการประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกจากบ้าน ก็เลยไม่มีใครมายืนข้างทาง ตำรวจโทรหาหญิงขายบริการเหล่านี้แล้วบอกว่า ไม่มีใครมายืนเลย ช่วยออกมายืนให้หน่อย แล้วมาเสียค่าปรับ คือพอเราไม่ออกมาเขาก็ไม่มีผลงาน ก็เลยโทรหาเรา ค่าปรับตำรวจก็ออกให้”
.
‘ศีลธรรม’ ที่บดบังคนชายขอบ
.
“ศีลธรรมมันคือการตีตราคนที่ประกอบอาชีพนี้ เราทำงานหาเลี้ยงชีพ ใช้ร่างกายแลกเงิน มันผิดศีลธรรมหรือ ?” คือคำถามจากคุณต้นต่อการที่อาชีพขายบริการทางเพศถูกสังคมมองว่าเป็นอาชีพที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี
.
เมื่อพูดถึง ‘ขัดต่อศีลธรรมอันดี’คนส่วนหนึ่งย่อมมองว่านี่คือการพยายามละเมิดหรือบ่อนทำลายกฎระเบียบหรือคุณค่าบางอย่างที่สังคมยึดถือร่วมกัน แต่ในขณะเดียยวกัน ประโยคสวยหรูเช่นนี้ คือสิ่งที่คนอีกเป็นจำนวนไม่น้อยมองว่าเป็นเครื่องมือที่รัฐใช้อ้างเป็นเหตุผลในการปิดกั้นการกระทำบางอย่างของประชาชน ไม่ว่าจะเป็น การสั่งปิดเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ กฎหมายการผลิตและจำหน่ายเบียร์ กฎหมายทำแท้ง หรือแม้กระทั่งสิทธิในการใช้เรือนร่างของตนเองในการหาเลี้ยงชีพ ทุกอย่างล้วนเป็นการสร้างกรอบของการกระทำบางอย่าง ซึ่งส่งผลกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยมีคำว่าศีลธรรมมาเป็นตัวกำหนด
.
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตรากฎหมายของรัฐไทยนั้น ล้วนมีเจตนารมณ์มาจากคำว่าศีลธรรมและความเชื่อทางศาสนา ไม่ได้ถูกตรามาจากสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่าที่ควร อีกทั้งสังคมไทยที่เป็นอยู่ก็ยังคงมีกรอบศีลธรรมอันดีครอบงำอยู่ เห็นได้จากการออก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีที่ได้กล่าวไปข้างต้น กับการมองคนที่ประกอบอาชีพค้าประเวณีว่าเป็นเหยื่อ ด้อยสติปัญญาและการศึกษา แต่ไม่ได้มองเห็นถึงเบื้องหลังชีวิตของคนที่ตัดสินใจเลือกประกอบอาชีพนี้ จนกลายเป็นว่ารัฐไทยได้แต่ปฏิเสธปัญหาและให้ความสำคัญเฉพาะแค่เรื่องศีลธรรม ซึ่งสุดท้ายก็กลายเป็นการผลักคนกลุ่มหนึ่งในสังคมให้กลายเป็นคนชายขอบ ถูกมองว่าละเมิดศีลธรรมอันดี และต้องเผชิญกับปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมาจากการปะกอบอาชีพโดยไม่มีมาตรการดูแลใด ๆ
.
ทำให้ Sex Worker ‘ไม่ผิดกกฎหมาย’
.
ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานองค์กรมูลนิธิ Empower ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เคยให้สัมภาษณ์กับทาง The Matter เอาไว้ว่า เป้าหมายของการผลักดันเรื่องดังกล่าว คือการทำให้อาชีพขายบริการเป็นอาชีพที่ ‘ไม่ผิดกฎหมาย’ และไม่ต้องมีสถานะเป็นเหมือนอาชญากรอย่างที่เป็นอยู่อีกต่อไป
.
ทันตาอธิบายในบทสัมภาษณ์ดังกล่าวว่า สิ่งที่พวกเธอต้องการสร้างความเข้าใจกับสังคม คือพวกเธอไม่ได้เรียกร้องให้อาชีพขายบริการนั้นถูกกฎหมาย เพราะการถูกกฎหมายนั้น หมายถึงจะต้องมีการร่างกฎหมายฉบับอื่นมารองรับ แต่ต้องการให้อาชีพนี้ไม่ผิดกฎหมาย เพื่อที่ผู้ประกอบอาชีพนี้จะได้หลุดพ้นจากกฎหมายที่ไม่ได้ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเธอ หากมุ่งแต่เอาผิดคนทำงานเท่านั้น
.
ส่วนคุณต้นให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า อยากจะให้รัฐยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เพื่อที่ผู้ประกอบอาชีพขายบริการจะได้ไม่ต้องถูกเอาเปรียบจากนายจ้างหรือผู้มีอิทธิพล ทั้งการกดขี่ การบังคับจ่ายส่วยเพื่อที่จะได้ไม่ต้องโดนจับ “เราอยากทำงานเหมือนคนปกติ อย่างแม่ค้าส้มตำยืนขายก็ไม่เห็นจะต้องมีกฎหมายมารองรับเขาเลย ถูกไหม”
.
ส่วนคนที่กังวลว่าหากยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีแล้วจะทำให้มีอาชีพนี้ไม่มีการควบคุมนั้น คุณต้นกล่าวว่าในความเป็นจริง ผู้ประกอบอาชีพขายบริการไม่ได้มีอิสระเสรีในการทำอาชีพนี้ขนาดนั้น เพราะในไทยยังมี พ.ร.บ. ตัวอื่นที่สามารถนำมาใช้ควบคุมดูแลได้ อย่างเช่น พ.ร.บ. ปราบปรามการค้ามนุษย์, พ.ร.บ. สถานบริการ, พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก, พ.ร.บ. แรงงาน, พ.ร.บ. แอลกอฮอล์, พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เป็นต้น และสุดท้ายเมื่อยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีออกไป พนักงานบริการเหล่านี้ก็จะสามารถเข้าระบบตามกฎหมายแรงงานของไทยโดยอัตโนมัติ มีการคุ้มครอง ไม่โดนเอาเปรียบ และมีการเสียภาษีอย่างถูกต้องได้
.
เหมือนที่คุณต้นกล่าวทิ้งท้ายกับเราว่า “เรายินดีที่จะทำตามกฎหมายทุกอย่าง แต่จะต้องทำตามกฎหมายแรงงานเท่ากับคนอื่น”
.
ข้อมูลอ้างอิง
- ศิริศักดิ์ ไชยเทศ, นักสิทธิมนุษยชน : สัมภาษณ์
- พลอยรุ้ง สิบพลาง. เรามีสิทธิเลือก sex worker เป็นอาชีพ คุยเรื่องกฎหมายลดทอนคุณค่าคนกับมูลนิธิ Empower. จาก https://thematter.co/social/sex-work-is-work/130075
- รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์. ถ้า sex worker ไม่เป็นงานที่ผิดกฎหมาย…. จาก https://thematter.co/thinkers/if-we-decriminalize-sex-worker/125626
- Havocscope, Remittance from Sex Workers in Thailand. จาก https://havocscope.com/thailand-remittance
- วิชญาดา อำพนกิจวิวัฒน์. ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน: วาทกรรมในการสร้างอำนาจรัฐ. จาก https://themomentum.co/ruleoflaw-public-morality/
.
.
เผยแพร่ครั้งแรก : Angkaew for Equality
บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่