หากเอ่ยชื่ออย่าง Grab, Uber, Indriver เชื่อว่าหลาย ๆ คนรู้จักคุ้นเคยกันดี ว่าเหล่านี้คือแอปพลิเคชันที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ด้วยบริการเรียกรถโดยสารที่ผู้ใช้สามารถรู้ราคาและคำนวณระยะเวลาได้ในทันที เพราะผู้คนต่างก็ต้องการการเดินทางที่สะดวกสบายและรวดเร็ว ดังนั้นการใช้บริการแอปพลิเคชันเหล่านี้จึงกลายเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของคนในปัจจุบัน
.
หากมองย้อนกลับไปประมาณ 10 ปี ถ้าไม่มีรถส่วนตัว การเดินทางไปไหนมาไหนในเชียงใหม่ ‘รถแดง’ น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของใครหลายคน แต่คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมปัจจุบันคนจำนวนมากถึงหันหลังให้รถแดง และเลือกใช้แอปพลิเคชันเรียกรถเพื่อการเดินทางแทน?
.
ปัญหาเกิดเมื่อเมืองเปลี่ยน
.
‘รถแดง’ หรือรถสี่ล้อแดง เป็นระบบขนส่งสาธารณะที่อยู่คู่กับเมืองเชียงใหม่มายาวนาน มีลักษณะเป็นรถโดยสารรับจ้างสองแถวขนาดเล็กที่ให้บริการในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ และมีการเก็บค่าบริการคนละ 10 – 20 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทาง
.
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการขยายตัวของกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว ทำให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองเศรษฐกิจ มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาเยือนมากมาย แต่ความเจริญเหล่านี้ก็ต้องแลกมาด้วยปัญหาที่ไม่ต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกซีกโลก
.
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Remix Primer Series ระบุถึงปัญหาด้านการขนส่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญอยู่ว่า ประกอบด้วย 5 ปัญหาคือ การจราจรติดขัด การเดินทางไกล ที่จอดรถไม่เพียงพอ ราคาสูง และผังเมืองที่ไม่เอื้ออำนวยกับการเดินทาง ซึ่งน่าสนใจว่าหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา เชียงใหม่เองก็ประสบปัญหาเหล่านี้เช่นกัน และนับวันปัญหาก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
.
หนึ่งในเรื่องที่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ก็คือราคาที่เริ่มไม่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของผู้คน จากการสัมภาษณ์คนขับรถแดงในปี พ.ศ. 2565 พบว่ามีการปรับเปลี่ยนราคาค่าบริการเพิ่มจากเดิมถึง 10 บาท โดยสหกรณ์เป็นผู้กำหนด เนื่องจากผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ราคาน้ำมันทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น ค่าโดยสารรถรถแดงจึงต้องปรับตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
.
ราคาค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเลือกใช้บริการรถแดงน้อยลง แต่คงปฏิเสธไม่ได้ด้วยเช่นกันว่า นับตั้งแต่แอปพลิเคชันเรียกรถโดยสารเริ่มให้บริการ ความสะดวกสบายที่ได้รับ และความชัดเจนของราคา ส่งผลให้ผู้ใช้บริการเลือกใช้สิ่งใหม่ จนกระทั่งกลายเป็นต้นเหตุที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่าย
.
เมื่อ Grab ถูกกฎหมาย…
.
ปัญหาระหว่าง Grab และรถโดยสารสาธารณะเริ่มมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่บริษัท GrabTaxi เข้ามามีบทบาทในประเทศไทยเป็นปีแรก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านกฎหมาย เช่น ป้ายทะเบียนเหลืองและใบขับขี่รถสาธารณะที่ไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติ ไปจนถึงความขัดแย้งระหว่างเอกชนและผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ อย่างการประท้วงของคนขับรถแดง ที่ไม่ต้องการให้ Grab ถูกกฎหมาย เพราะการเข้ามาของรถโดยสารรูปแบบใหม่อย่าง Grab ทำให้รายได้ของคนขับรถแดงลดลงมากถึงครึ่งหนึ่งของรายได้เดิมที่เคยได้รับ
.
ต่อมาเมื่อมีประกาศกฎกระทรวงคมนาคม ว่าด้วยรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564 ทำให้สามารถใช้รถยนต์ส่วนบุคคลหรือรถยนต์จดทะเบียนป้ายขาว มารับจ้างหรือรับผู้โดยสารผ่านทางแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือได้ ความคิดเห็นของคนขับรถแดงก็แบ่งเป็นสองส่วน กลุ่มหนึ่งยังคงมีมุมมองในด้านลบต่อ Grab เนื่องจากจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการรถแดงลดน้อยลง ทำให้รายของพวกเขาลดลงตามไปด้วย แต่อีกกลุ่มมองต่างออกไป มีความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และยอมรับในเรื่องของความสะดวกสบายที่รถแดงไม่สามารถทำได้
.
“ต่างคนต่างทำมาหากิน เขาก็ดิ้นรนเหมือนเรา” อรัณ สัญลักษณ์ คนขับรถแดงให้ความเห็นเกี่ยวกับการให้บริการของ Grab ขณะที่ ชุ่ม นามมา คนขับรถแดงอีกคนหนึ่งกล่าวว่า “ก็ขึ้นอยู่บกับลูกค้าว่าเขาชอบแบบไหน ใจเขาใจเรา”
.
เสียงสะท้อนจากคนขับ เมื่อรถแดงอาจมาถึงจุดเปลี่ยน
.
“รายได้ลดลง ยิ่งพอมีแอปเรียกรถเข้ามาก็โดนแย่งลูกค้าไปหมด ตรงส่วนที่เราจะได้ก็หายไป” ชุ่มกล่าวถึงผลกระทบที่เขาได้รับจากการมาของแอปพลิเคชันเรียกรถโดยสาร ส่วนอรัณยอมรับว่า “รถแดงคนเขาไม่ค่อยขึ้นหรอก คนสมัยนี้เรียกรถผ่านแอปกันหมด”
.
การพัฒนาของเทคโนโลยี ทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป มีสิ่งอำนวยความสะดวกเกิดขึ้นมากมาย ทุกสิ่งทำได้เพียงสัมผัสปลายนิ้วลงบนหน้าจอโทรศัพท์ เช่นเดียวกับเรียกรถโดยสารที่มีแอปพลิเคชันมากมายออกมาให้เลือกใช้ ทำให้การเดินทางของทุกคนกลายเป็นเรื่องง่าย เพียงแค่เลือกปลายทางที่ต้องการจะไป ตัวแอปพลิเคชันก็จะคำนวณราคาและระยะเวลาในการเดินทางให้ในทันที
.
ยิ่งเมื่อบวกกับการเกิดวิกฤตราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูง ก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อคนขับรถแดงที่มีกว่า 1,500 คัน บ้างก็หันไปทำสวนหรือรับจ้างที่ภูมิลำเนาของตัวเอง เนื่องจากรายได้ที่เคยได้รับต่อวันนั้นลดลงไปมากกว่าครึ่ง โดยหลังการเข้ามาของ Uber ต่อเนื่องมาถึง Grab มีคนขับรถแดงในจังหวัดเชียงใหม่มากมายที่มองว่าตนเองได้รับความเดือดร้อนจากเรื่องดังกล่าว ทั้งจากการถูกแย่งผู้โดยสาร บวกกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจนทำให้รายได้แทบจะไม่พอกับค่าใช้จ่าย กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่รวมไปถึงครอบครัว
.
“อนาคตอาจจะหันไปทำ Grab แทน รายได้มันดีกว่า” คือคำตอบของชุ่ม เมื่อถูกถามว่าจะทำอย่างไรหากสถานการณ์ของรถแดงยังเป็นเช่นนี้ ส่วนอรัณบอกว่า “ถ้ามีเงินลงทุนกับรถก็คงจะไปทำ Grab เดี๋ยวนี้รถแดงมันหาลูกค้ายาก”
.
‘รถแดง’ เป็นภาพจำหรือสัญลักษณ์ที่ใคร ๆ นึกถึงเมื่อนึกถึงจังหวัดเชียงใหม่ แต่เมื่อความเปลี่ยนแปลงมาถึง อนาคตที่ทุกสิ่งทุกอย่างมีการปรับตัวเพื่อให้ทันกับโลกที่ก้าวไปข้างหน้า สิ่งที่คนขับรถแดงจะต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ รถแดงจะสามารถรักษาสถานะการเป็นพาหนะประจำจังหวัดเชียงใหม่ และสามารถปรับตัวตามยุคสมัยและกฎกติกาที่ไม่เหมือนเดิม เพื่อคงอยู่เป็นเสน่ห์คู่กับเมืองต่อไปได้หรือไม่
.
หรือสุดท้ายแล้ว ทั้งรถแดงและคนขับจะไม่สามารถต้านทานความเปลี่ยนแปลง และเป็นเพียงแค่ภาพในความทรงจำของผู้คนในที่สุด
.
ข้อมูลอ้างอิง :
- นายอรัณ สัญลักษณ์. สัมภาษณ์
- นายชุ่ม นามมา. สัมภาษณ์
- อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ (2564). พลวัติเมืองเชียงใหม่:ช่วงเวลาของการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเมือง. จาก https://theurbanis.com/insight/17/12/2021/5712
- สหกรณ์นครลานนาเดินรถ (2560). ประวัติความเป็นมา. จาก http://www.nakorn-lanna.net/about
- ไทยนิวส์ (2565). รถแดงเชียงใหม่ เจอวิกฤตน้ำมันแพง คนขับแห่คืนรถเลิกอาชีพ. จาก https://www.thainewsonline.co/news/836106
- ตลาดรถยนต์ในประเทศ (2564). รถยนต์ส่วนบุคคลวิ่งแกร๊บ ถูกกฎหมายแล้ว. จาก https://chobrod.com/auto-market/รถยนต์ส่วนบุคคลวิ;งแกร็บ-ถูกกฎหมายแล้ว-12204
- workpointToday (2562). รถแดงเชียงใหม่ ขู่ระดม 2,465 คันประท้วงหาก Grab ถูกกฎหมาย. จาก https://workpointtoday.com/taxi-chiangmai/
- Company estimates, demographia world urban area (2015). Grab corporate profile. จาก https://www.grab.com/sg/wp-content/uploads/media/docs/Grab-Corporate-Profile-ENG.pdf?ver=20180403
- Primer Series (2021). 5 Transportation issue and challenges facing us cities. จาก https://www.remix.com/blog/5-transportation-challenges-facing-us-cities
.
.
เรื่อง : ศุภาพิชญ์ ชายะกุล
ภาพ : สำนักข่าวอ่างแก้ว
บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่